Sell in May and go away ?

เชื่อว่าตอนนี้นักลงทุนหลายคน “ปรับพอร์ต” แล้วหันมาถือเงินสดมากขึ้น


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

เชื่อว่าตอนนี้นักลงทุนหลายคน “ปรับพอร์ต” แล้วหันมาถือเงินสดมากขึ้น

คำแนะนำของนักวิเคราะห์ที่ให้เลี่ยงหุ้นประเภท Global play แล้วหันมาเล่นหุ้นกลุ่ม Domestic play ในขณะนี้ ก็ใช่ว่าจะปลอดภัย ในสภาวะที่ “ความเชื่อมั่น” ของนักลงทุนวูบลง

วันก่อนหน้านี้ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เปิดเผยข้อมูลน่าสนใจ

นั่นคือ ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า มาอยู่ที่ระดับ 104.49 ลดลง 2.83%

ปัจจัยหลัก ๆ มาจากเรื่องการเมืองภายในประเทศ

ส่วนต่างประเทศ คือ ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า กลับมาเป็นประเด็นที่สร้างความกังวล (อย่างหนัก) อีกครั้ง

หันมาดูตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้

ดัชนีหุ้นไทยที่ปรับลง หากเจาะลึกลงไป จะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นหุ้นประเภท Global play หรือ Domestic play พากันร่วงลงทั้งหมด

หุ้นในกลุ่ม SET100 (ขณะเขียนต้นฉบับ) มีบวกอยู่เพียง  4-5 ตัวเท่านั้น

สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน และต้องการปรับพอร์ต ลดความสี่ยง

นักวิเคราะห์บางคนแนะนำว่า ให้หันมา “ถือเงินสด” มากขึ้น

นัยสำคัญว่า เพื่อให้รอดูปัจจัยลบต่าง ๆ ที่เข้ามารบกวนขณะนี้ว่าจะดีขึ้นหรือไม่ หรือไม่ก็ต้องรอความชัดเจนนั่นเอง

นักวิเคราะห์บางคนก็มองว่า เป็นช่วงของ “พักฐาน” พอดี โดยวันที่เหลือของสัปดาห์นี้อาจจะลงได้อีก (บ้าง) แล้วสัปดาห์หน้ามีโอกาสจะกลับมาฟื้นตัวได้

ส่วนตอนนี้ ที่เทขายกันเยอะ นักลงทุนอาจจะ “แพนิก” เกินไป

ว่ากันว่าช่วงเดือนพฤษภาคม ตลาดหุ้นมักจะ (ร่วง) เป็นแบบนี้อยู่แล้วล่ะ

ทำให้เกิดคำพูด Sell in May and go away

ประกอบกับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะแจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 แล้วเสร็จ และหุ้นหลาย ๆ ตัวขึ้นเครื่องหมาย XD เพื่อจ่ายเงินปันผลกัน ทำให้หุ้นมีการขายทำกำไรกันออกมา

ส่วนภาพตลาดหุ้นตอนนี้ที่ทำให้ดูแย่กว่าทุกปี เพราะว่ามีเรื่องการเมือง และเทรดวอร์เข้ามาผสมโรงอีก

มีข้อมูลจาก บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี

เขาบอกว่าจากการศึกษาผลตอบแทนการลงทุนในเดือนพฤษภาคมย้อนหลัง 11 ปี

หรือนับตั้งแต่ปี 2008-2018 เพื่อดู “ความน่าจะเป็น” ของการเกิดเหตุการณ์ “Sell in May and go away” หรือการขายหุ้นออกในเดือน พ.ค. เพราะว่าผลตอบแทนส่วนใหญ่จะติดลบในเดือนดังกล่าว

จากสถิติพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าว “มีความน่าจะเป็น” ถึง 82% ที่เดือน พ.ค. จะมีผลตอบแทบติดลบเฉลี่ย -0.75%

แต่หากตัดปี 2009 ที่ผลตอบแทนเป็นบวกแบบผิดปกติถึง 12.4%

เราจะได้ผลตอบแทนในเดือน พ.ค. ติดลบเฉลี่ยสูงถึง -2.07% โดยมีเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้นที่ตลาดเป็นบวกได้ คือ ปี 2009 และ 2016 หรือคิดเป็นความน่าจะเป็น 18%

เรื่องการขายหุ้นในเดือนพฤษภาคมนี้

จริง ๆ แล้ว ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้จริง ๆ ว่า มันเป็นเรื่องจริงหรือไม่

หากจำกันได้ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนรายใหญ่ สาย VI เคยเขียนบทความเรื่องนี้ว่า “เขาไม่เชื่อ” เรื่องนี้

และไม่ควรจะไปยึดอะไรแบบจริงจัง

ฟังแบบนี้แล้ว เรื่องนี้ก็ต้องว่ากันไปแหละ ความคิด มุมมอง แต่ละคนย่อมแตกต่างกัน

แต่ถึงอย่างไร ตลาดหุ้นในแต่ละปี แต่ละเดือน มันจะมีเหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยบวก และลบที่แตกต่างกันไป

แม้บางคนอาจจะเชื่อว่า มีเรื่องการขายเดือนพฤษภาคมนี้เกิดขึ้นจริง ๆ และปีนี้ก็น่าจะเกิดขึ้นจริง ๆ ด้วยเช่นกัน จนอาจเผชิญกับสิ่งที่จะเลวร้ายสุดสำหรับนักลงทุนก็ว่าได้

แต่ก็อย่าลืมว่าในเดือนนี้ (พฤษภาคม)

MSCI ได้ประกาศเพิ่มนำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นเป็น 3.0% และเป็นระดับสูงสุดจากที่เคยประกาศมาด้วย

การเพิ่มน้ำหนักนี้ จะทำให้เงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างมาก

ก็คงต้องมาวัดกันดูว่า ปัจจัยลบ และบวกที่เข้ามารวมอยู่ในเดือนเดียวกันนี้

เรื่องไหนมีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นมากกว่ากัน

Back to top button