ศาลฯสั่งบอร์ดอู่ตะเภาฯแจงปม”ธนโฮลดิ้ง”16พ.ค.นี้ คาดเลื่อนสรุปผล”อู่ตะเภาฯ-แหลมฉบัง”ไปก.ค.

ศาลฯสั่งบอร์ดอู่ตะเภาฯแจงปม "ธนโฮลดิ้ง" 16 พ.ค.นี้ คาดเลื่อนสรุปผล "อู่ตะเภาฯ-แหลมฉบัง" ไปก.ค.


จากกรณีเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2562 กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ยื่นศาลปกครอง กรณีไม่เห็นพ้องด้วยกับมติและคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

โดยระบุว่า ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้แจ้งมติจากที่ประชุม และคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน มายังตัวแทนผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งมีข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อโครงการ (ไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากข้อกำหนดโครงการฯ ให้กระบวนการคัดเลือกเอกชนต้องเป็นความลับ)

ดังนั้น กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร ประกอบด้วย 1. บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด 2. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน)4. บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ 5. Orient Success International Limited ได้พิจารณาด้วยความรอบคอบเพื่อรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องของกระบวนการพิจารณา จึงได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับมติและคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดังกล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ยังคงมุ่งมั่นในการเข้าร่วมประมูลและเคารพในกฏระเบียบ กติกาและขั้นตอนที่ถูกต้อง โปร่งใส เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สูงสุดของประเทศ

ล่าสุดวันนี้(13 พ.ค.62) คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก พร้อมเข้าให้ข้อเท็จจริงและจัดส่งเอกสารประกอบการพิจารณาต่อศาลปกครองในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและการพิจารณาคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวฯ เพื่อพิจารณามูลเหตุรับคำฟ้องกรณีกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ส่งคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง

โดยพลเรือเอก โสภณ วัฒนมงคล รองผู้บัญชาการทหารเรือ ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการทหารเรือและประธานคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการฯ แถลงว่า ในกรณีนี้ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งถึงคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการฯ ให้จัดส่งเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้องภายในวันที่ 14 พ.ค.62 และขอให้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 16 พ.ค.62 เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพียงพอประกอบการพิจารณารับคำฟ้องของศาล ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกได้จัดเตรียมคำชี้แจงและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว

พร้อมทั้งยืนยันว่า กองทัพเรือในฐานะเจ้าของโครงการการเตรียมความพร้อมการดำเนินงานในทุกๆ ด้านที่จะดำเนินการให้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นสำคัญ ตลอดจนตระหนักถึงปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นอย่างดี

กองทัพเรือจึงยึดมั่นในความยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน และได้นำแนวทางและวิธีการของการดำเนินการป้องกันการทุจริตหรือข้อตกลงคุณธรรม มาใช้กับการดำเนินการของโครงการ โดยคณะกรรมการคัดเลือกยืนยันให้ความเสมอภาคและเป็นธรรมกับเอกชนทุกรายที่มีความมุ่งมั่น มีคุณสมบัติครบถ้วน และปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์และประกาศที่กำหนด พร้อมทำงานร่วมกันเพื่อสร้างประวัติศาสตร์อันเป็นสมบัติและความภาคภูมิใจของชาติ

กรณีนี้กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอโครงการฯ ในจำนวนผู้ยื่นข้อเสนอ 3 ราย ได้ยื่นคำฟ้องและคำขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวฯ ต่อศาลปกครองกลาง เกี่ยวกับประเด็นที่คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการฯ มีมติไม่รับข้อเสนอบางส่วนที่ผู้ยื่นข้อเสนอนำมายื่นภายหลังเวลาปิดรับการยื่นข้อเสนอที่กำหนดไว้ในเอกสารการคัดเลือกเอกชน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่า 8.4 หมื่นล้านบาท มีแนวโน้มเลื่อนสรุปโครงการไปเป็นปลายเดือนมิ.ย. หรือ ก.ค. ซึ่งคงต้องผ่านการพิจารณาในรัฐบาลใหม่ เนื่องจากขณะนี้กระบวนการอยู่ในชั้นศาลที่ผู้ยื่นข้อเสนอร้องต่อศาลปกครอง

นายคณิศ กล่าวว่า ในส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกนั้น กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้งและพันธมิตรได้ยื่นศาลปกครอง เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ ที่มีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานไม่ตัดสิทธิการพิจารณายื่นข้อเสนอ โดยวันที่ 16 พ.ค.นี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเข้าชี้แจงต่อศาลปกครอง

“คณะกรรมการคัดเลือกฯ บอกว่าให้ความสำคัญเสมอภาคกับเอกชนทุกราย เขาทำตามทีโออาร์ พอมีเอกชนร้องศาลปกครอง ซึ่งเป็นสิทธิของเอกชน แต่ดูแล้วไม่น่าช้า กระบวนการรับซองเสร็จตอน 6 โมง ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ บอกว่าทีโออาร์เขียนชัดเจน เขาส่งไม่ทันแต่เอกชนบอกว่าทัน” นายคณิศกล่าว

ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นั้น กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ได้ยื่นฟ้องศาลหลังถูกตัดสิทธิ โดยขณะนี้ยังไม่ทราบว่าฟ้องในประเด็นอะไร หลังจากที่อยู่ขั้นตอนพิจารณาซองคุณสมบัติ (ซอง1)อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโครงการยังดำเนินการตามกระบวนการ แต่การพิจารณาหาผู้ชนะยังไม่สามารถประกาศได้ จนกว่ากระบวนการในชั้นศาลจะได้ข้อยุติ

สำหรับโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่า 5.54 หมื่นล้านบาทนั้น กพอ.จะเสนอครม.เพื่ออนุมัติวงเงินเพิ่ม เนื่องจากก่อนหน้าการคำนวณคืนเงินให้เอกชนที่ชนะประมูลถมที่ทะเล มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะทยอยจ่ายคืนปีละ 600 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี อยู่บนสมมติฐานดอกเบี้ย 3.5%ต่อปี ซึ่งเอกชนไม่สามารถหาเงินกู้มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ แต่เอกชนมีดอกเบี้ยเงินกู้ 4.8%ต่อปี ทำให้เงินที่จ่ายคืนเอกชนเพิ่มเป็น 800 ล้านบาท ดังนั้นจึงขอเพิ่มวงเงินกับครม.

ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา มูลค่า 1 หมื่นล้านบาทนั้น โครงการนี้ บมจ.การบินไทย (THAI) ร่วมทุนกับแอร์บัส ซึ่งพรุ่งนี้ (14 พ.ค.) จะมีการหารือกันและเตรียมเข้าพิจารณาที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ในวันที่ 10 มิ.ย. จากนั้นจะเข้าครม.ในสัปดาห์ถัดไป ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการภายในเดือน มิ.ย.62

อนึ่งในช่วงปลายเดือนมี.ค.2562 ที่ผ่านมา มีการเปิดรับซองยื่นข้อเสนอโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมูลค่าโครงการ 290,000 ล่านบาท โดยมีบริษัทเข้ายื่นข้อเสนอจำนวน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture), กลุ่ม Grand Consortium และกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร

โดย กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA, บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC

กลุ่ม Grand Consortium ประกอบด้วย บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF, บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CNT และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ในกลุ่ม บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV

กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด บริษัท Orient Success International Limited บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM

Back to top button