พาราสาวะถี

ไม่ว่าจะฟอกขาว ลอกคราบมาอย่างไร แต่ความเป็นเผด็จการมันย่อมผุดขี้นตามสัญชาตญาณของคนที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยโดยเนื้อแท้ จึงอย่าได้แปลกใจที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจ ซึ่งความจริงต้องบอกว่าพร้อมมาตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้วก็ว่าได้ สิ่งแรกที่จะทำคือ ทำให้สภาสงบ ซึ่งตรงนี้ไม่แน่ใจว่า เป็นความตั้งใจในฐานะเผด็จการหรือเป็นความอ่อนหัดของนักการเมืองหน้าใหม่


อรชุน

ไม่ว่าจะฟอกขาว ลอกคราบมาอย่างไร แต่ความเป็นเผด็จการมันย่อมผุดขี้นตามสัญชาตญาณของคนที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยโดยเนื้อแท้ จึงอย่าได้แปลกใจที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจ ซึ่งความจริงต้องบอกว่าพร้อมมาตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้วก็ว่าได้ สิ่งแรกที่จะทำคือ ทำให้สภาสงบ ซึ่งตรงนี้ไม่แน่ใจว่า เป็นความตั้งใจในฐานะเผด็จการหรือเป็นความอ่อนหัดของนักการเมืองหน้าใหม่

ในฐานะคนที่จะไปเป็นผู้นำฝ่ายบริหารอันมาจากการเลือกตั้ง ไม่สามารถที่จะไปก้าวก่ายงานของฝ่ายนิติบัญญัติได้ ซึ่งถือเป็นมารยาททางการเมืองที่รับรู้กันดีอยู่แล้ว เว้นเสียแต่ว่า คนที่เป็นนายกฯ นั้น จะเป็นสมาชิกพรรคเสียงข้างมากในสภา จึงจะสั่งการผ่านสมาชิกของตัวเองได้ แต่ถ้าไม่ใช่ยิ่งเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค การจะไปจุ้นจ้านงานของอำนาจอีกฟากฝั่งหนึ่งตามกลไกของระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่มีใครเขาทำกัน

หรือยังไม่ชินที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ สภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่สนช. และสิ่งสำคัญคือไม่ใช่ส.ว.ลากตั้งที่ตัวเองตั้งมากับมือ จึงจะสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งสำคัญของผู้นำเผด็จการคือ ตัวเองเป็นแค่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคสืบทอดอำนาจที่ถูกเสนอชื่อเพราะอะไรต่างก็รู้ดีกันอยู่แล้ว แล้วจะไปสั่งการพรรคการเมืองที่ตัวเองไม่ได้เป็นแม้แต่สมาชิกได้อย่างไร หรือนี่เป็นการยอมรับอย่างเต็มตัวว่า ข้านี่แหละเจ้าของพรรคตัวจริงเสียงจริง

พอได้ฟังความคิดเช่นนี้แล้ว ข้อความของ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต.ผู้ถูกมาตรา 44 เด้งพันตำแหน่งก่อนเวลาอันควร ที่แสดงความเห็นยก 4 เหตุผลไม่เอาประยุทธ์ จึงน่าจะอธิบายภาพของผู้นำเผด็จการที่จะจำแลงแปลงกายมาเป็นนักประชาธิปไตยได้อย่างชัดเจน โดยเหตุผลข้อสุดท้ายนั้นคือการฉายภาพทั้งหมดต่อท่าทีล่าสุดของท่านผู้นำ

บุคลิกภาพ วุฒิภาวะ การให้เกียรติผู้อื่น การรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น การยอมรับความเห็นต่าง เป็นคุณสมบัติที่ผู้นำในระบอบประชาธิปไตยควรมี แต่เป็นเรื่องที่ประยุทธ์ไม่คุ้นเคย ผู้นำเผด็จการจึงเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมในยุครัฐประหารแต่อาจไม่เหมาะสมนักสำหรับรัฐบาลประชาธิปไตย สิ่งที่แสดงออกล่าสุดคือหลักฐานรองรับความเห็นของสมชัยในประการนี้ แต่คงไม่มีเผด็จการที่ใดในโลกที่จะยอมรับว่าตัวเองมีนิสัยเช่นนี้ มีแต่จะยกหางตัวเองและพวกพ้องว่าเป็นคนดีทั้งสิ้น

ชัดเจนดีสำหรับสมชัย ไม่เอาคือไม่เอา ไม่กลับกลอกเปลี่ยนคำพูดไปมา แต่คงต้องฝากอดีตกกต.รายนี้ไปสะกิดคนในพรรคที่ตัวเองสังกัดหลังจากได้หัวหน้าคนใหม่ อย่าลืมสิ่งที่เคยประกาศไว้ อย่าได้อ้างว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของอดีตหัวหน้าพรรค ถ้าจะไปร่วมสืบทอดอำนาจเผด็จการ ก็ยอมรับเสียแต่โดยดีว่า ได้ร่วมกันสมคบคิดกับขบวนการสืบทอดอำนาจมาตั้งแต่ต้น ดังนั้น จะให้ปฏิเสธการร่วมรัฐบาลคงไม่ได้ อย่าเที่ยวอ้างเรื่องประเทศต้องเดินหน้า บ้านเมืองต้องไปต่อให้คนเขาสมเพช

ขณะเดียวกัน การปกป้องส.ว.ลากตั้งของผู้นำเผด็จการ โดยอ้างว่าเคยผ่านการออกกฎหมายมาแล้วกว่า 500 ฉบับ จำนวนไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่านั่นเป็นผลงานที่มีคุณภาพ เพราะทั้งหมดไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน เป็นการทำงานตามคำสั่งของคณะเผด็จการทั้งสิ้น หากมองเห็นหัวประชาชนจริง ต้องมีการตั้งกระทู้ถามหรือยื่นญัตติให้รัฐบาลมาชี้แจงต่อสภาเป็นระยะกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

แต่ระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สภาที่ชื่อว่าสนช. ทำได้แค่เป็นสภาตรายางคอยผ่านทุกความต้องการของรัฐบาลเผด็จการเท่านั้น อย่าได้เที่ยวมาอ้างเป็นผลงานอันล้ำค่า มากไปกว่านั้น ถามต่อไปว่าคนดีมีความสามารถในประเทศไทยไม่มีอีกแล้วใช่ไหม จึงต้องเลือกแต่น้องของผู้นำเผด็จการที่ลาการทำหน้าที่ในสภาอันทรงเกียรติถึง 394 วันจากการต้องไปปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งนั้นจำนวน 400 วัน

ตั้งแต่วันแรกที่ผู้นำเผด็จการยึดอำนาจรัฐบาลประชาธิปไตย ก็แสดงความรังเกียจสภาผัวเมีย แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับส.ว.ลากตั้งถามว่ามันคืออะไร เลวร้ายกว่าสภาผัวเมียที่หมายถึงส.ว.เลือกตั้ง ซึ่งผ่านการเลือกโดยประชาชนหรือไม่ คำตอบมีอยู่แล้วดีชั่วรู้อยู่แก่ใจดี ที่หนักข้อไปกว่านั้น มีอย่างที่ไหนให้คสช.เลือกสมาชิกคสช.เป็นส.ว. แค่เท่านี้มันก็จะสะท้อนให้เห็นแล้วว่า ฃบวนการสืบทอดอำนาจนั้น ต้องการปฏิรูปบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าหรือเพื่อหาเหตุสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองและพวกพ้องอยู่ต่อในอำนาจกันแน่

ยิ่งได้ฟังเหตุผลของผู้นำเผด็จการอีกประการเพื่อรองรับความชอบธรรมของส.ว.ลากตั้งไม่รู้ว่าสมควรหรือไม่ กับการบอกว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มาแล้ว จำไว้นะ อะไรที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ที่ส่งมาแล้ว ที่ทรงมีพระราชวินิจฉัยมาแล้ว ทุกอย่างมีการตรวจสอบทั้งหมด ทำไมถึงไม่แยกแยะ เพราะดูเหมือนว่าจะเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่คนเขาวิพากษ์วิจารณ์กัน เรื่องของพระราชอำนาจนั้นไม่มีคนไทยคนไหนที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และยังอาจจะตั้งคำถามกับหลายเรื่องเสียด้วยซ้ำสมควรนำขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่

กรณีนี้ วีระ สมความคิด จึงย้อนถามผู้นำเผด็จการว่า การห้ามวิจารณ์รายชื่อส.ว.เพราะผ่านการโปรดเกล้าฯ มาแล้วนั้น รัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งและรัฐบาลที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ รองนายกฯและรัฐมนตรี ประยุทธ์ไปทำรัฐประหารแย่งอำนาจไล่เขาออกทำไม ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ก่อน จึงจะมีสิทธิพูดประโยคที่เอ่ยออกมา จำไว้นะ อะไรที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มาแล้ว มีพระบรมราชวินิจฉัยมาแล้ว ทุกอย่างมีการตรวจสอบกันหมดแล้ว

ต้องย้ำกันอีกครั้ง เรื่องของสถาบันเบื้องสูงเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ตาม ไม่สมควรจะนำมากล่าวอ้างโดยเฉพาะกับเรื่องที่เป็นประเด็นทางการเมือง เนื่องจากสถาบันเบื้องสูงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง และยิ่งเป็นการแก่งแย่งอำนาจทางการเมือง หากจะปกป้องน้องชายหรือคณะส.ว.พี่น้องพวกพ้อง ก็ควรจะพูดแค่ว่าขอเวลาให้คนเหล่านั้นได้ทำงานและได้เลือกผมไปเป็นนายกฯ ต่ออีกกระทอก ถ้าผลงานไม่ดี แก้ปัญหาให้ประชาชนไม่ได้ ค่อยมาเล่นงานผม แสดงออกถึงความเป็นลูกผู้ชายที่พร้อมจะรับผิดบ้าง ไม่ใช่จะเอาดีเอาชอบเข้าตัวอย่างเดียว

Back to top button