สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 21 พ.ค.62

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 21 พ.ค.62


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) หลังจากรัฐบาลสหรัฐยกเลิกคำสั่งห้ามบริษัทสหรัฐดำเนินธุรกิจกับบริษัทหัวเว่ยเป็นการชั่วคราว โดยข่าวดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และยังเป็นปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มผู้ผลิตชิพ ซึ่งรวมถึงหุ้นบริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์ของหัวเว่ย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,877.33 จุด เพิ่มขึ้น 197.43 จุด หรือ +0.77% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,864.36 จุด เพิ่มขึ้น 24.13 จุด หรือ +0.85% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,785.72 จุด เพิ่มขึ้น 83.35 จุด หรือ +1.08%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) โดยดีดตัวขึ้นหลังร่วงลงอย่างหนักในวันจันทร์ เนื่องจากนักลงทุนขานรับข่าวที่ว่ารัฐบาลสหรัฐได้ยกเลิกคำสั่งห้ามบริษัทสหรัฐดำเนินธุรกิจกับบริษัทหัวเว่ยเป็นการชั่วคราว

ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.54% ปิดที่ 379.50 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,385.46 จุด เพิ่มขึ้น 26.88 จุด หรือ +0.50% และ ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,143.47 จุด เพิ่มขึ้น 102.18 จุด หรือ +0.85% ส่วนดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,328.92 จุด เพิ่มขึ้น 18.04 จุด หรือ +0.25%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับข่าวที่ว่า รัฐบาลสหรัฐยกเลิกคำสั่งห้ามบริษัทสหรัฐดำเนินธุรกิจกับบริษัทหัวเว่ยเป็นการชั่วคราว และตลาดยังได้แรงหนุนจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,328.92 จุด เพิ่มขึ้น 18.04 จุด หรือ +0.25%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) ท่ามกลางความวิตกกังวลที่ว่า ข้อพิพาทด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงไม่มากนัก เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางยังคงเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมัน ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 11 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 62.99 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 21 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 72.18 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ การดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งของตลาดหุ้นสหรัฐ ยังส่งผลให้นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 4.1 ดอลลาร์ หรือ 0.32% ปิดที่ 1,273.20 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 3.5 เซนต์ หรือ 0.24% ปิดที่ 14.41 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 1.20 ดอลลาร์ หรือ 0.15% ปิดที่ 815.40 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 18.50 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 1,312.50 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากรัฐบาลสหรัฐยกเลิกคำสั่งห้ามบริษัทสหรัฐดำเนินธุรกิจกับบริษัทหัวเว่ยเป็นการชั่วคราว

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.62 เยน จากระดับ 109.97 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0113 ฟรังก์ จากระดับ 1.0083 ฟรังก์ อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3404 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3431 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1157 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1168 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2705 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2726 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6881 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6905 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button