โบรกฯอัพเป้า OSP แตะ 40 บ. มองกำไรโตยาว 3 ปี-ตัวเต็งเข้า SET50 รอบใหม่

โบรกฯอัพเป้า OSP แตะ 40 บ. มองกำไรโตยาว 3 ปี-ตัวเต็งเข้า SET50 รอบใหม่


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์หุ้นบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP หลังนักวิเคราะห์มองว่า OSP มีโอกาสเข้าคำนวณดัชนี SET50 ในรอบเดือนมิ.ย.2562

โดยนักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น OSP และปรับราคาเป้าหมายเป็นปี 2563 ที่ 40 บาท จากเดิม 34 บาท อิง PER ที่ 30.2 เท่า โดยมองว่า Valuation ในปี 2563 ที่ PER ที่ 30.2 เท่า เป็นราคาที่เหมาะสม ซึ่งได้สะท้อนถึงการเติบโตของผลประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยกำไรสุทธิปี 2562-2564 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง มี CAGR 13.5%

นอกจากนี้ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ขึ้น 3.3% เพื่อสะท้อนผล Cost cutting program ที่มีประสิทธิภาพ โดยจะเริ่มรับรู้ผลของ Fit Fast Firm เต็มปีในปี 2563 ที่ 3,963 ล้านบาท (โต 16.7% เมื่อเทียบจากปีก่อน) หนุนโดยตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ 6% และรับรู้กำลังการผลิตจากโรงงานขวด SGA2 เต็มปี และรายได้จาก Supply chain ที่ขยายตัว 10% เมื่อเทียบจากปีก่อน

รวมทั้งรายได้จาก Personal care เพิ่ม 9% เมื่อเทียบจากปีก่อน จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และรายได้จากต่างประเทศยังขยายตัวที่ 14% YoY คาดรายได้จากกลุ่มเครื่องดื่มในต่างประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะพม่า และรับรู้รายได้จาก Personal care และ Beverage ในเวียดนาม รวมทั้ง Gross profit margin ขยายตัวจากการรับรู้ราคา Cullet ที่ต่ำลงได้เต็มปี, ต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงจากโปรแกรม Fit Fast Firm, Manufacturing margin ที่เพิ่มขึ้นจากโรงงานที่พม่าซึ่งสร้างเสร็จในไตรมาส 4/62 ช่วยหนุน Margin กลุ่มเครื่องดื่มขยายตัว

อีกทั้ง มองว่าจะรับรู้ผลจากโปรแกรม Fit Fast Firm ได้เต็มปีในปี 2563 ถึงแม้ว่าราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 25% ใน 3 เดือนที่ผ่านมา แต่มองว่าหุ้นยังน่าสนใจ โดย OSP เทรดต่ำกว่า Peer และยังมี Short term catalyst จากการเข้าคำนวณใน SET 50 ซึ่งจะประกาศในช่วงสัปดาห์หน้า

ขณะที่ นางพรธิดา บุญสา กรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการสายการเงิน OSP เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 5% โดยเป็นผลมาจากการเติบโตในทุก ๆ กลุ่มธุรกิจ และบริษัทวางแผนที่จะเปิดตัว 2-4 ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มใหม่ โดยเน้นที่กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีการเติมส่วนผสมเพื่อให้ได้คุณสมบัติเฉพาะ และของใช้ส่วนบุคคลที่ยังคงมีกำลังซื้อในประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยอดขายจากต่างประเทศโดยเฉพาะเมียนมาและเวียดนาม ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มยังมียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โรงงานหลอมแก้วใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ สามารถผลิตขวดแก้วที่บางและมีน้ำหนักเบา เอื้อต่อการบริหารจัดการต้นทุน โดยจะเปิดดำเนินการในช่วงไตรมาส 4/62 ส่วนโรงงานผลิตเครื่องดื่มในนิคมอุตสาหกรรมติละวา เมียนมา คาดจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/62 ด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน มีโอกาสที่บริษัทจะนำผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มให้พลังงานไปขายที่อังกฤษ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เข้าลงทุนในบริษัท Basecamp Brews Limited ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มให้พลังงาน แม้ว่าขนาดของบริษัทยังไม่ใหญ่มากในปัจจุบันแต่ถือเป็นสตาร์ทอัพที่มีโอกาสในการเติบโตสูง

Back to top button