5G กับปรากฏการณ์ใหม่

ด้วยความเต็มใจหรือไฟต์บังคับอะไรหรือไม่ก็ตาม แต่ 3 ค่ายมือถือ บริษัท แอ็ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ตบเท้ายื่นขอรับการจัดสรรคลื่น 700 MHz เพื่อทำ 5G เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


พลวัตปี 2019 :  สุภชัย ปกป้อง

ด้วยความเต็มใจหรือไฟต์บังคับอะไรหรือไม่ก็ตาม แต่ 3 ค่ายมือถือ บริษัท แอ็ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ตบเท้ายื่นขอรับการจัดสรรคลื่น 700 MHz เพื่อทำ 5G เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทำให้เทคโนโลยี 5G กำลังจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เฉกเช่นเกิดขึ้นกับ 3G และ 4G ในปัจจุบัน การมาของ 5G ถูกมองว่าจะยกระดับความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนและเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายที่สามารถเข้ามาเพิ่มศักยภาพภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงการศึกษาและวงการแพทย์ฯ

จึงเกิดโจทย์ขึ้นมาเช่นกันว่า 5G ทำได้ขนาดนั้นจริงหรือไม่..?

5G คือเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายเจเนอเรชั่น 5 ที่มีการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถ เรื่องความเร็ว Upload และ Download บนเครือข่ายไร้สายที่มีความเสถียรและรวดเร็วขึ้น เทียบเคียงกับเทคโนโลยี 4G ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน 5G จะสามารถทำความเร็วได้เร็วกว่าถึง 10 เท่า โดย 5G ทำความเร็วสูงสุดถึง 20 Gbps แต่ทว่า 4G สามารถทำได้สูงสุด 1 Gbps เท่านั้นเอง หรือเอาให้ชัดทางเทคนิคนั่นก็คือ..

Latency คือค่าการตอบสนองต่อการรับ-ส่งสัญญาณ ค่านี้เลขยิ่งน้อยยิ่งตอบสนองได้ดี โดย 5G มีค่า Latency น้อยกว่า 1 มิลลิวินาที (ms  )แต่ 4G จะอยู่ที่ประมาณ 10 มิลลิวินาที (ms)

Data Traffic คือการรองรับการส่งข้อมูลระยะ 1 เดือน ด้าน 5G สามารถรองรับได้มากถึง 50 Exabytes ขณะที่ 4G จะรองรับอยู่ที่ประมาณ 7.2 Exabytes เท่านั้น

Peak Data Rates คือความเร็วสูงสุดในการรับ-ส่งข้อมูล 5G สามารถทำได้ถึง 20 Gbps ส่วน 4G จะอยู่ที่ 1 Gbps

Available Spectrum คือช่วงคลื่นความถี่ฝั่ง 5G สามารถใช้ได้ถึง 30 GHz ส่วน 4G ใช้ได้เพียงแค่ 3GHz เท่านั้น

Connection Density คือการรองรับความหนาแน่นการเชื่อมต่อ 5G รองรับได้มากถึง 1 ล้านคนต่อตารางกิโลเมตร ขณะที่ 4G รองรับได้เพียง 1 แสนคนต่อตารางกิโลเมตร

ระยะเริ่มต้น 5G ดูเหมาะกับการใช้งานเชิงอุตสาหกรรมและการแพทย์เช่นการนำมาใช้คู่กับเทคโนโลยี AR เพื่อใช้วิเคราะห์ผู้ป่วยสำหรับคุณหมอหรือเป็นการเชื่อมต่อกับรถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น

ผู้ใช้งานทั่วไปกับการเข้ามาของ 5G จะช่วยยกระดับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วสูงขึ้น ทำให้สามารถเลือกรับดูคอนเทนต์ภาพยนตร์ ด้วยความละเอียดระดับ 4K รวมถึงการใช้งานร่วมกับ loT จะสะดวกและสเถียรมากขึ้นด้วย โดยเริ่มใช้งานกันเต็มรูปแบบประมาณปี 2563-2564 จึงไม่ใช่เรื่องใกล้ตัวที่ทุกมองข้ามอีกต่อไป

Back to top button