สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 2 ก.ค. 2562

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 2 ก.ค. 2562


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเพียงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (2 ก.ค.) ท่ามกลางภาวะการซื้อขายที่ผันผวน เนื่องจากนักลงทุนเริ่มกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของข้อพิพาทการค้าอีกครั้ง หลังจากสหรัฐได้หันมาเปิดศึกการค้ากับสหภาพยุโรป (EU) ด้วยการขู่ว่าจะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจาก EU วงเงิน 4 พันล้านดอลลาร์ แม้ว่าสหรัฐเพิ่งเจรจาสงบศึกการค้ากับจีนเมื่อเร็วๆนี้ก็ตาม

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,786.68 จุด เพิ่มขึ้น 69.25 จุด หรือ +0.26% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,109.09 จุด เพิ่มขึ้น 17.93 จุด หรือ +0.22% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,973.01 จุด เพิ่มขึ้น 8.68 จุด หรือ +0.29%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (2 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคและกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคดีดตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนไม่สนใจคำขู่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐที่จะกำหนดภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าของสหภาพยุโรป (EU) มูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์

ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.37% ปิดที่ 389.29 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,576.82 จุด เพิ่มขึ้น 8.91 จุด หรือ +0.16% ขณะที่ ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,526.72 จุด เพิ่มขึ้น 5.34 จุด หรือ +0.04% และ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,559.19 จุด เพิ่มขึ้น 61.69 จุด หรือ +0.82%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (2 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มส่งออกที่บวกขึ้น หลังเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่ความเห็นของนายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งถูกตีความว่าเป็นการส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินนั้น ได้ช่วยหนุนตลาดด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,559.19 จุด เพิ่มขึ้น 61.69 จุด หรือ  +0.82%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (2 ก.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงอันเนื่องมาจากการชะลอตัวของภาคการผลิตนั้น จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน โดยความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากรายงานข่าวที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศพันธมิตร ได้บรรลุข้อตกลงขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีก 9 เดือน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 2.84 ดอลลาร์ หรือ 4.8% ปิดที่ 56.25 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย. ดิ่งลง 2.66 ดอลลาร์ หรือ 4.1% ปิดที่ 62.40 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กดีดตัวขึ้นมาปิดที่เหนือระดับ 1,400 ดอลลาร์/ออนซ์ได้อีกครั้งเมื่อคืนนี้ (2 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าช้อนซื้อเก็งกำไรหลังจากราคาทองคำร่วงลงอย่างหนักเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเพิ่มความน่าดึงดูดให้กับทองคำ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 18.7 ดอลลาร์ หรือ 1.35% ปิดที่ระดับ 1,408 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 4.5 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 15.238 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 3.70 ดอลลาร์ หรือ 0.44% ปิดที่ 833.50 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 8.1 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1,552.80 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับข่าวสหรัฐขู่เพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันหลังจากภาคการผลิตทั่วโลกชะลอตัวลง ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดย ADP จะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมิ.ย.ของสหรัฐในวันนี้ และกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.ในวันศุกร์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.84 เยน จากระดับ 108.46 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9859 ฟรังก์ จากระดับ 0.9875 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3110 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3140 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1290 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1285 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2602 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2637 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6987 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6957 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button