ตำนานธนาคารไทย

การควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยกับธนาคารธนชาต กำลังใกล้งวดเข้ามาทุกที..หลังมีการพูดคุยถกเถียงกันมานานกว่า 1 ปี แต่การควบรวมจะเสร็จภายในปีนี้หรือไม่..เดี๋ยวคงได้รู้กัน แต่ระหว่างรอความชัดเจน เรามาเปิดตำนาน “ธนาคารของไทย” กันดูซิว่า แต่ละธนาคารมีรากเหง้ากันมาอย่างไร


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

การควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยกับธนาคารธนชาต กำลังใกล้งวดเข้ามาทุกที..หลังมีการพูดคุยถกเถียงกันมานานกว่า 1 ปี แต่การควบรวมจะเสร็จภายในปีนี้หรือไม่..เดี๋ยวคงได้รู้กัน แต่ระหว่างรอความชัดเจน เรามาเปิดตำนาน “ธนาคารของไทย” กันดูซิว่า แต่ละธนาคารมีรากเหง้ากันมาอย่างไร

เริ่มจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เดิมชื่อแบงก์สยามกัมมาจล ก่อตั้งเมื่อปี 2449 และเปลี่ยนชื่อมาเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อปี 2482 จนมาถึงปัจจุบัน

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ก่อตั้งเมื่อปี 2487 แม้เจอวิกฤติอย่างหนักเมื่อปี 2540 มีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้น แต่ยังใช้ชื่อ “ธนาคารกรุงเทพ” มาโดยตลอด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ก่อตั้งเมื่อปี 2488 ผ่านวิกฤติเมื่อปี 2540 มีการปรับโครงสร้างองค์กรที่เรียกว่า Re-engineering ที่กลายเป็นต้นตำรับการปรับโครงสร้างองค์กรยุควิกฤติต้มยำกุ้ง มาจนถึงทุกวันนี้ยังใช้ชื่อธนาคารกสิกรไทยเช่นเดิม

ช่วงปี 2488 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ได้เกิดขึ้นมาอีกแห่ง แต่เมื่อช่วงปี 2549-2552 มีเข้าเทกโอเวอร์กิจการธนาคารจีอีมันนี่ เพื่อรายย่อยและธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย เข้ามา ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่กลายเป็นกลุ่มMUFG BANK แต่ยังใช้ชื่อ “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” ดังเดิม

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ก่อตั้งเมื่อปี 2499 แต่ประสบปัญหาช่วงวิกฤติปี 2540 ทำให้ต้องมีการควบรวมกับธนาคารดีบีเอสไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ช่วงปี 2547 แต่ยังคงใช้ชื่อ “ธนาคารทหรไทย” มาโดยตลอด

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารมณฑลและธนาคารเกษตร เมื่อปี 2509 จากนั้นช่วงปี 2530 มีการควบรวมกับธนาคารสยาม และปี 2547 ควบรวมกับธนาคารมหานครและธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ แต่ยังใช้ชื่อธนาคารกรุงไทย มาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนธนาคารไทยเครดิต รายย่อย จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท เครดิตฟองซิเอร์ไทยเคหะ จำกัด หลังขออนุญาตดำเนินการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย และได้รับอนุญาตเมื่อปี 2550 เช่นเดียวกับธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่เปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท เครดิตฟองซิเอร์ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด เมื่อปี 2548

ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เกิดขึ้นเมื่อปี 2548 โดยเปลี่ยนชื่อจากบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด หลังได้รับอนุญาตให้ขึ้นเป็นธนาคารด้วยตนเองได้ เช่นเดียวกับธนาคารทิสโก้ ที่เปลี่ยนชื่อมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ หลังได้รับใบอนุญาตเมื่อปี 2548

ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนชื่อมาจากธนาคารสินเอเซีย หลังจากธนาคารอินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชนา ลิมิเต็ด (ICBC) เข้ามาถือหุ้นใหญ่ เมื่อปี 2553

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) จุดเริ่มต้นมาจากธนาคารหวั่งหลีจั่น (ของตระกูลหวั่งหลี) เมื่อปี 2476 จากนั้นเปลี่ยนชื่อมาเป็นธนาคารหวั่งหลี เมื่อปี 2516 ต่อมาเปลี่ยนเป็นธนาคารนครธน เมื่อปี 2528 และต่อมาปี 2548 เปลี่ยนชื่อมาเป็นธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มาจนถึงปัจจุบัน

ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) เกิดจากการควบรวมกิจการ 2 สายหลัก สายแรกเริ่มธนาคารแหลมทอง เมื่อปี 2491 มาเป็นธนาคารรัตนสิน เมื่อปี 2541 และมาเป็นธนาคารยูโอบีรัตนสิน เมื่อปี 2542 ส่วนอีกสายเริ่มจากธนาคารแห่งเอเชียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เมื่อปี 2482 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารเอเชีย เมื่อปี 2519 จากนั้นปี 2548 มีการควบรวมกับธนาคารยูโอบีรัตนสินและเปลี่ยนธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)

ส่วนธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นมาจากธนาคารสหธนาคาร ช่วงปี 2492 จากนั้นเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยธนาคาร เมื่อปี 2541 ต่อมาเป็นชื่อเป็นธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เมื่อปี 2552

ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เกิดขึ้นมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนชาติ และมีการควบรวมกับธนาคารนครหลวงไทยและธนาคารศรีนคร เมื่อปี 2554 โดยใช้ชื่อธนาคารธนชาต มาจนถึงปัจจุบัน

บางธนาคารเกิดมาด้วยตัวเอง..บางธนาคารเกิดจากการผันแปรตามยุคสมัย..หลายธนาคารเกิดจากความจำเป็นด้วยเงื่อนไขตามกฎหมาย และอีกหลายธนาคารเกิดขึ้นจากการควบรวมเพื่อความอยู่รอด..!!

ที่แน่ ๆ..การควบรวมระหว่างธนาคารทหารไทยกับธนาคารธนชาต..จะไม่ใช่ดีลสุดท้ายอย่างแน่นอน..!!!

Back to top button