พาราสาวะถีอรชุน

ได้ชื่อว่าโฆษกรัฐบาลไม่พูดซักเรื่องคงไม่มีปัญหาอะไร ยิ่งพอพูดแล้วแทนที่จะเคลียร์กลับกลายเป็นทำให้คนตั้งคำถามตามมาอีก พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือ “ไก่อู” น่าจะสรุปบทเรียนเรื่องผังล้มเจ้ากำมะลอ ก่อนที่จะมาต่อล้อต่อเถียงเรื่องส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนกลับประเทศจีน คือ ไม่มีใครเถียงหรอกว่าคนที่หลบหนีเข้าเมืองนั้นจะต้องส่งกลับไปประเทศต้นทาง


ได้ชื่อว่าโฆษกรัฐบาลไม่พูดซักเรื่องคงไม่มีปัญหาอะไร ยิ่งพอพูดแล้วแทนที่จะเคลียร์กลับกลายเป็นทำให้คนตั้งคำถามตามมาอีก พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือ “ไก่อู” น่าจะสรุปบทเรียนเรื่องผังล้มเจ้ากำมะลอ ก่อนที่จะมาต่อล้อต่อเถียงเรื่องส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนกลับประเทศจีน คือ ไม่มีใครเถียงหรอกว่าคนที่หลบหนีเข้าเมืองนั้นจะต้องส่งกลับไปประเทศต้นทาง

แต่ปุจฉาที่หลายคนคาใจก็คือ ในจำนวน 300 คนนั้น ฝ่ายที่ดูแลเรื่องนี้ใช้วิจารณญาณและเกณฑ์ใดตัดสินในการเลือกส่งคนส่วนหนึ่งไปให้จีน ส่วนหนึ่งไปที่ตุรกีและอีกส่วนยังอยู่ที่ประเทศไทยอย่างไร สิ่งสำคัญมากไปกว่านั้น ถ้าไก่อูจะช่วยขยายภาพให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็น่าจะอธิบายด้วยว่า เหตุใดจึงปฏิเสธที่จะไม่ส่งทั้งหมดให้ตุรกีทั้งที่เขาอ้าแขนรับในฐานะผู้ลี้ภัยอย่างเต็มที่

การอธิบายให้คนในประเทศเข้าใจนั้น คงไม่มีใครที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรในทางเสียหายหรือทำให้รัฐบาลไม่พอใจแน่ แต่กับต่างประเทศโดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา ยุโรปและอื่นๆ นั้น จะชี้แจงให้เขายอมรับได้อย่างไร ยิ่งเห็นภาพที่เจ้าหน้าที่จีนปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ทั้ง 109 คนตอนที่ควบคุมตัวกลับแล้ว ถึงจะบอกว่าเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยแต่ในโลกของนักสิทธิมนุษยชนคงไม่มีใครรับได้

บอกแล้วว่าเรื่องของชนชาติ ศาสนานั้นไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาแสดงความเห็นแบบพร่ำเพรื่อ จะด้วยเจตนาอย่างไรก็ตาม ว่าแล้ว นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดังที่โพสต์ข้อความในทำนองจีนจะทำอย่างไรกับชาวอุยกูร์ก็ไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับไทย จึงถูกอดีตนักร้องในสังกัดค่ายเดียวกันที่เวลานี้หันไปเป็นผู้เผยแพร่ศาสนาอิสลามอย่าง วีรชน ศรัทธายิ่ง หรือที่รู้จักกันในนาม โต ซิลลี่ฟูลส์ หรือ โต แฮงแมน โต้กลับอย่างเจ็บแสบ

ถ้อยคำของโตนั้นบอกอัตลักษณ์ของคนที่โพสต์ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็เป็นการเปรียบเปรยที่เห็นภาพ ตาที่มันเหล่มองไม่ค่อยชัดไม่เป็นอะไรเพราะไม่กระทบใคร แต่ใจที่มันคด แยกไม่ออกระหว่างความดีความชั่วและลิ้นที่มันเบี้ยว คอยพูดให้คนเห็นดีเป็นชั่ว ชั่วเป็นดี คนพวกนี้ยึดคติ เอาตัวรอดเป็นยอดดี ทำตัวเป็นนกสองหัว สุดท้ายโดนทุกคนเกลียด เพราะเขารู้ว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว นี่น่าจะฉายภาพของขบวนการคนดีทั้งหลายแหล่ด้วย

สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้วิกฤติมหาศาลแน่นอน เดือดร้อนพี่น้องชาวธัญบุรีที่ปทุมธานีเนื่องจากการประปาส่วนภูมิภาคสาขาธัญบุรี ต้องงดจ่ายน้ำให้ประชาชนนับแสนครัวเรือนตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพราะไม่มีน้ำมาผลิตน้ำประปา ตามข่าวที่รู้กันคือน้ำในคลองระพีพัฒน์ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตแห้งขอด ส่งสัญญาณมาก่อนหน้านั้นจากถนนบริเวณใกล้เคียงทรุดเพราะไร้น้ำมาช่วยดัน

วันนี้การบริหารจัดการโดยภาพรวมมันไม่ใช่แค่ขนน้ำไปแจกตามหมู่บ้านเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาหลักคือ น้ำในเขื่อนหลักที่เคยเป็นแหล่งใหญ่คอยจัดสรรปันส่วนส่งน้ำเลี้ยงคนและใช้ในการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้นมันวิกฤติ จำเป็นจะต้องรักษาเสถียรภาพน้ำไว้ใช้ให้ได้นานที่สุด แต่หากยังไม่มีฝนตกลงมาเติมก็ไม่รู้ว่าจะยื้อกันได้อีกนานเท่าไหร่

สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่จะเดือดร้อนเฉพาะกรณีไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ ไร้น้ำเพื่อทำการเกษตร แต่มันจะกระทบเป็นลูกโซ่เลยเถิดไปถึงการฉุดตัวเลขจีดีพีของประเทศตามมาด้วย ที่ประเมินกันไว้ว่าจะทำให้ตัวเลขต่ำลงร้อยละ 0.5 นั้น หากมองไปยังสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ ไม่แน่ว่าตัวเลขอาจจะเพิ่มมากไปกว่านี้ ในฐานะรัฐบาลที่ดีต้องเร่งหาหนทางแก้ไข การเที่ยวไปโทษรัฐบาลที่ผ่านมาได้แค่สะใจพวกเชลียร์ แต่ไม่ช่วยทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

วันก่อนพูดถึงวลีทองของท่านผู้นำเรื่อง “ทำไมคนไทยยังโง่ปลูกอย่างอื่นที่มีกำไรเพียงพันบาทหรือไม่กี่บาท” เป็นการสะท้อนมุมมองในแง่ของคนที่เป็นลูกชาวไร่หลานชาวนา อาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาอธิบายให้ผู้มีอำนาจพอจะเข้าใจ แต่เวลานี้มีข้อมูลทางวิชาการจากนักวิชาการด้านการเกษตรโดยตรง คงจะพอทำให้คนที่พูดเข้าใจได้ว่า เกษตรกรไม่ได้โง่

ท่านที่ว่าคือ ดอกเตอร์เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวอธิบายเรื่องนี้ให้เห็นภาพ ผมอยู่ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากรมากว่า 25 ปี ทำงานกับเกษตรกรมาแล้วมากมาย ผมอยากบอกว่าจริงๆ แล้ว เกษตรกรส่วนมากไม่ได้โง่เหมือนที่บางคนเข้าใจหรอกครับ แต่ที่เขาต้องทนปลูกพืชหรือผลผลิตที่มีราคาถูกและมีฐานะยากจน เพราะเหตุผลใหญ่ๆ สำคัญ 3 ประการ

หนึ่งคือ เกษตรกรต้องเผชิญเงื่อนไขข้อจำกัดมากมาย ทั้งด้านที่ดิน ฟ้าฝน ภัยธรรมชาติ ศัตรูพืช เงินทุน หนี้สินที่มีอยู่เดิม แรงงาน สุขภาพ ช่องทาง ข้อมูล และสถานการณ์การตลาด ภูมิปัญญา อินเทอร์เน็ต ฯลฯ มากมายกว่าข้าราชการอย่างผมหลายเท่านัก ซ้ำร้ายเงื่อนไขหลายอย่างยังคาดเดาล่วงหน้าได้ยากด้วย การตัดสินใจของเกษตรกรจึงเป็นไปอย่างซับซ้อน ทั้งๆ ที่ตัวเลือกหรือทุนในมือก็มีไม่มาก เรียกว่า โจทย์ยากกว่าคนอื่นๆ มากทีเดียว

สองนอกจากจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนแล้ว เกษตรกรยังมีความเปราะบางมากอีกด้วย เพราะมีฐานทุนเดิมอยู่จำกัด เมื่อพลาดพลั้งอะไรไป เกษตรกรจะต้องลำบากกว่าที่เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ที่เจอแบบเดียวกัน หลายกรณี ความพลาดพลั้งนั้นอาจผลักให้เกษตรกรรายนั้นตกอยู่ใน “กับดักความยากจน” ไปนานทีเดียว

สุดท้าย เกษตรกรยังมีอำนาจที่จำกัด อำนาจที่ว่านี้ มิได้หมายถึงอำนาจในการสั่งให้ใครต่อใครทำตามใจที่ตนต้องการ แต่หมายถึงอำนาจที่จะต่อรองกับสิ่งที่จะมาสัมพันธ์หรือกระทบกับตนเอง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมาจากกลไกรัฐหรือกลไกตลาด เกษตรกรก็มักจะต่อรองได้จำกัด เช่น เมื่อขาดแคลนน้ำหรือเมื่อน้ำท่วม เกษตรกรก็จะได้ผลกระทบก่อนและมากกว่ากลุ่มอื่น และเมื่อเกษตรกรซื้อปัจจัยการการผลิตก็ขึ้นอยู่กับผู้ขายเป็นผู้กำหนดราคา แต่เมื่อเวลาขายผลผลิตก็ไม่สามารถกำหนดราคาได้อีก ต้องขึ้นอยู่กับผู้ซื้อ เป็นต้น

ก่อนที่อาจารย์เดชรัตจะออกตัวว่า ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่ไม่สนับสนุนหมามุ่ย เพราะมหาวิทยาลัยก็พัฒนาและส่งเสริมอยู่ แต่อยากให้เข้าใจว่า ถ้าเรารวมถึงคนพูดด้วย ต้องเผชิญข้อจำกัดเหมือนที่พี่น้องเกษตรกรต้องเผชิญ ก็ไม่แน่ว่าเราจะเอาตัวรอดได้ดีเท่าที่พี่น้องเกษตรกรได้ทำอยู่หรือไม่ เพราะฉะนั้นท่ามกลางความยากลำบากที่เกษตรกรต้องเผชิญอยู่ หากเราไม่สามารถช่วยอะไรได้อย่างน้อยก็ให้กำลังใจกับพี่น้องเกษตรกรก็ยังดี เข้าใจตรงกันนะ

Back to top button