นับถอยหลัง IMO 2020

เหลือเวลาไม่ถึง 5 เดือนที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) ประกาศให้วันที่ 1 ม.ค. 2563 (ปี ค.ศ. 2020) เป็นวันแรกเริ่มบังคับใช้มาตรการ IMO 2020 โดยกำหนดให้เรือทุกลำในโลกต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่ไม่ให้มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์เกิน 0.5% จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5%


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

เหลือเวลาไม่ถึง 5 เดือนที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) ประกาศให้วันที่ 1 ม.ค. 2563 (ปี ค.ศ. 2020) เป็นวันแรกเริ่มบังคับใช้มาตรการ IMO 2020 โดยกำหนดให้เรือทุกลำในโลกต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่ไม่ให้มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์เกิน 0.5% จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5%

มาตรการดังกล่าวทำให้กองเรือต้องเปลี่ยนจากน้ำมันเตาที่มีกำมะถันสูง (High Sulfur Fuel Oil: HSFO) มาเป็นน้ำมันเตาที่มีกำมะถันต่ำไม่เกิน 0.5% (Low Sulfur Fuel Oil: LSFO) หรือเปลี่ยนเป็นน้ำมันดีเซลสำหรับเดินเรือ (High Speed Diesel/ Marine Gas Oil: MGO) หรือเชื้อเพลิงอื่นที่สะอาดกว่าอย่าง LNG

ข้อมูลจาก Wood Mackenzie ประเมินว่า มาตรการนี้จะทำให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดเพิ่มขึ้นราว 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน สวนทางกับปริมาณการใช้ HSFO ที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ..!!

จุดกำเนิดมาตรการนี้ มาจากข้อมูลที่พบว่า เรือขนส่งระหว่างประเทศ เป็นแหล่งกำเนิดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2 ที่เป็นอันตรายต่อทั้งสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศน์) โดยการปล่อย SO2 จากเรือขนส่ง มีตัวเลขสูงกว่า SO2 จากรถยนต์ดีเซลในยุโรปถึง 3,500 เท่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจำนวนมาก จากโรคหัวใจและมะเร็งปอด..!!

หลายประเทศจึงกำหนดเขตควบคุมความเข้มข้นของซัลเฟอร์ในเชื้อเพลิงของเรือ (Emission Control Area : ECA) เช่น แถบอเมริกาเหนือและยุโรปเหนือ (ไม่เกิน 0.1%) และจีน ประกาศเขตควบคุมซัลเฟอร์ใน 3 เขตท่าเรือ ได้แก่ แยงซี, เพิร์ล และอ่าว Bohai โดยจำกัดซัลเฟอร์ไม่เกิน 0.5% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2017 ที่ผ่านมา

ล่าสุดองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) มีมติให้จำกัดซัลเฟอร์ในเชื้อเพลิงของเรือขนส่งระหว่างประเทศไม่เกิน 0.5% เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020 ดังกล่าว

สำหรับกลุ่มกองเรือ ถือว่าได้รับผลกระทบ เพราะต้องเปลี่ยนมาใช้ MGO หรือ LSFO ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นและอาจกระทบต่อกำไรหากไม่สามารถผลักภาระไปให้ลูกค้าได้ โดยระยะยาวเรือขนส่งต้องเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่น เช่น LNG หรือ ติดตั้ง Scrubber เพื่อกำจัดกำมะถันส่วนเกิน

ปัจจุบันมีเรือที่ติดตั้ง  Scrubber ประมาณ 1,000 ลํา แต่จะเพิ่มเป็น 1,700-2,000 ลําภายในสิ้นปีนี้

สำหรับกลุ่มได้ประโยชน์คือ กลุ่มโรงกลั่น ด้วยมาตรการนี้ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดีเซลที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ LSFO และ MGO เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ ช่วง 2-3 ปีแรก จนกว่ากองเรือ จะปรับตัวหาวิธีอื่นที่ดีกว่าหรือถูกกว่าได้

โดยโรงกลั่นที่มีสัดส่วนการผลิตน้ำมันกลุ่มดีเซลมากจะได้ประโยชน์มาก เนื่องจากค่าการกลั่นจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือโรงกลั่นที่มี Middle Distillate มาก จะได้ประโยชน์มากสุด

ขณะที่อนาคตของน้ำมัน HSFO จะมีราคาถูกลงมาก จนทำให้เกิดการนำน้ำมันเตาไปใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้าแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือนำไปเผาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมหนักมากขึ้น..!!!

Back to top button