ครม.ไฟเขียวกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 63 ที่ 3.2 ล้านลบ.

ครม.ไฟเขียวกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 63 ที่ 3.2 ล้านลบ.


นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 3,200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ 2562 ที่กำหนดไว้ 3,000,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 200,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.7% โดยกำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุล จำนวน 469,000 ล้านบาท

ขณะที่คาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวมจำนวน 3,237,500 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร อากรถอนคืนกรมศุลกากร การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด การกันเงินเพื่อชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คงเหลือรายได้สุทธิ จำนวน 2,731,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการรายได้สุทธิปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามเอกสารงบประมาณที่กำหนดไว้ จำนวน 2,550,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 181,000 ล้านบาท หรือ 7.1%

การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 อยู่ภายใต้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 63 จะขยายตัวในช่วง 3.0 – 4.0% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลกที่คาดว่าจะสามารถปรับตัวต่อมาตรการกีดกันทางการค้าได้มากขึ้น รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวตามการเร่งเบิกจ่ายภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงปี 2563 – 2564 และการลงทุนภาคเอกชนที่มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและภาคครัวเรือนขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 0.8 – 1.8% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 5.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,200,000 ล้านบาท ดังกล่าวเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563 – 2565) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 สำหรับงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีจำนวนและสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตและความเห็นของที่ประชุม 4 หน่วยงาน (สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

สำหรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้

รายจ่ายประจำ จำนวน 2.393 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 1.2 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.3% และคิดเป็นสัดส่วน 74.7% ของวงเงินงบประมาณรวม

รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งไม่มีการเสนอตั้งงบประมาณ หรือเพิ่มขึ้น 100% และคิดเป็นสัดส่วน 2% ของวงเงินงบประมาณรวม

รายจ่ายลงทุน จำนวน 655,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ 2562 จำนวน 5,861 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.9% และคิดเป็นสัดส่วน 20.5% ของวงเงินงบประมาณรวม

รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ 2562 จำนวน 10,964 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14% และคิดเป็นสัดส่วน 2.8% ของวงเงินงบประมาณรวม

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากความเข้าใจที่อาจคลาดเคลื่อนหรือมีการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจผิดว่ารัฐบาลจะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฝากชี้แจงว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง โดยหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 42% ของจีดีพี ซึ่งยังไม่เกินระดับ 60%

นอกจากนี้ แนวทางการบริหารราชการแผ่นดินตามที่ได้บรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาลนั้น ยังมีแหล่งเงินทุนจากแหล่งอื่นที่จะเข้ามาช่วยเสริมในการจัดหาเม็ดเงินมาเพื่อการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และการร่วมทุนจากภาครัฐและเอกชน เป็นต้น

“การจัดทำงบประมาณ ยังเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง และยังอยู่ในกรอบที่ไม่เกินเพดานหนี้สาธารณะ ขณะที่ภาระหนี้ของประเทศนั้น จะพบว่าหนี้ต่างประเทศของไทยมีเพียง 3% ของหนี้โดยรวมทั้งหมดของประเทศ อีกทั้งหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว ดังนั้น ความเสี่ยงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่จะเกิดผลกระทบกับภาระการคลังจึงมีไม่มาก ขอให้คลายความกังวล” นางนฤมลกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลไว้เหมือนทุกๆปี

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า งบที่ตั้งขึ้นก็นำมาใช้หนี้สาธารณะ ใช้หนี้ระยะสั้น/ระยะยาว การชำระดอกเบี้ย ชำระเงินต้น รวมถึงเป็นงบสำหรับงบรายจ่ายประจำ งบกระทรวง งบตามกลุ่มยุทธศาสตร์ เป็นต้น

“ไม่ใช่ว่าจะเอาวงเงินขาดดุลงบประมาณทุกปีมารวมกันแล้วสรุปว่า เราเป็นหนี้อยู่เท่าใด แล้วต้องใช้หนี้กันกี่ปี คงไม่ใช่แบบนั้น นี่คือการบริหารในภาพรวม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

Back to top button