อัพเดตล่าสุด! ยืนขอไลเซ่น ‘พิโกไฟแนนซ์’ พุ่ง 1,146 ราย ไฟเขียวแล้ว 667 ราย

อัพเดตล่าสุด! ยืนขอไลเซ่น 'พิโกไฟแนนซ์' พุ่ง 1,146 ราย ไฟเขียวแล้ว 667 ราย


นายพรชัย  ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ค.62 จำนวนผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.59 ที่กระทรวงการคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จนถึง ณ สิ้นเดือน ก.ค.62 มีจำนวนนิติบุคคลได้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนคำขออนุญาตทั้งสิ้น 1,146 ราย ใน 76 จังหวัด ในจำนวนนี้เป็นคำขออนุญาตประเภทพิโกพลัสจำนวน 73 ราย ใน 28 จังหวัด

สำหรับจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และสินเชื่อประเภทพิโกพลัสมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 100 ราย กรุงเทพมหานคร 87 ราย และขอนแก่น 61 ราย

ทั้งนี้ มีจำนวนนิติบุคคลที่คืนคำขออนุญาตทั้งสิ้น 125 ราย ใน 51 จังหวัด จึงคงเหลือนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตสุทธิเป็นจำนวน 1,021 ราย ใน 75 จังหวัด และมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 667 ราย ใน 71 จังหวัด โดยเป็นใบอนุญาตประเภทพิโกพลัส 8 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สงขลา และอุบลราชธานี และประเภทพิโกไฟแนนซ์ 659 ราย ใน 71 จังหวัด มีผู้เปิดดำเนินการแล้วเป็นจำนวน 538 ราย ใน 67 จังหวัด (ประเภทพิโกพลัสจำนวน 7 ราย ประเภทพิโกไฟแนนซ์ จำนวน 531 ราย) และมีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่ปล่อยสินเชื่อแล้ว 505 ราย ใน 65 จังหวัด

ขณะที่สถิติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือน มิ.ย.62 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 97,644 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 2,511.42 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 25,720.23 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 46,356 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 1,390.90 ล้านบาท หรือคิดเป็น 55.38% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 51,288 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 1,120.52 ล้านบาท หรือคิดเป็น 44.62% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม

ในขณะที่มียอดสินเชื่อคงค้างรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 26,176 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 726 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อคงค้างชำระ 1-3 เดือน จำนวน 2,830 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 77.21 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.63% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อคงค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) จำนวน 1,888 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 50.12 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.90 ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม

ส่วนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินตั้งแต่เดือน มี.ค.60 ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบทดแทนหนี้นอกระบบรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน โดยได้เร่งกระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน ก.ค.62 มีการอนุมัติสินเชื่อรวม 618,856 ราย เป็นจำนวนเงิน 27,349.55 ล้านบาท จำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 573,730 ราย เป็นจำนวนเงิน 25,403.30 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติให้กับผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบ จำนวน 45,126 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,946.25 ล้านบาท

โฆษก สศค. กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการสะสมการจับกุมผู้กระทำผิดนับตั้งแต่เดือน ต.ค.59 เป็นต้นมา ถึงสิ้นเดือน ก.ค.62 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,221 คน

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ใน 5 มิติ ได้แก่ (1) ดำเนินการจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย (2) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ (3) ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย (4) เพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ และ (5) สนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน

Back to top button