โอละพ่อคดีกรุงไทย

คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ยกฟ้องทักษิณ ชินวัตร เพราะหลักฐานไม่ชัดเจน ว่าเป็น “ซูเปอร์บอส” ผู้สั่งธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานคร 9 พันล้าน ส่งผลพลิกผันให้เกิดคำถามหลายข้อ ทั้งทางการเมืองและกฎหมาย


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ยกฟ้องทักษิณ ชินวัตร เพราะหลักฐานไม่ชัดเจน ว่าเป็น “ซูเปอร์บอส” ผู้สั่งธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานคร 9 พันล้าน ส่งผลพลิกผันให้เกิดคำถามหลายข้อ ทั้งทางการเมืองและกฎหมาย

ทางการเมือง คำถามย้อนไปที่อุตตม สาวนายน รมว.คลัง ผู้เคยเป็น 1 ใน 5 บอร์ดกรุงไทย ซึ่งบอร์ด 3 คนได้แก่ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ, วิโรจน์ นวลแข, มัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา ถูกจำคุก แต่อุตตม กับชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ไม่ถูกดำเนินคดี และกลายเป็นพยาน

ชัยณรงค์เป็นพยานคนเดียวที่พาดพิงทักษิณ อ้างว่า ร.ท.สุชายโทร.มาบอกว่า “ซูเปอร์บอส” ตกลงแล้ว อย่าถามมาก ขอให้พิจารณาโดยเร็ว โดยอ้างว่า ร.ท.สุชายมักพูดถึงทักษิณเป็นภาษาอังกฤษ แต่ศาลเห็นว่า “เป็นเพียงการคาดเดา”

ศาลยังชี้ว่า ตัวพยานก็เกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อ จึงควรรับฟังด้วยความระมัดระวัง

“ในการให้ถ้อยคำลับต่อ คตส. นายชัยณรงค์ ระบุด้วยว่า การจะอนุมัติสินเชื่อให้กับเครือกฤษดามหานครได้ คณะกรรมการธนาคารกรุงไทยรวม 5 ราย ต้องเป็นผู้อนุมัติ โดยศาลเห็นว่า หากนายชัยณรงค์คัดค้าน หรือโต้แย้งการอนุมัติจริง ธนาคารกรุงไทยจะอนุมัติสินเชื่อให้แก่เครือกฤษดามหานครได้อย่างไร”

ตรงนี้จะย้อนกลับมาที่อุตตม ซึ่งยืนกรานว่าตัวเองไม่ผิด ไม่เกี่ยว อย่าบิดเบือน ตัวเองกับชัยณรงค์ได้ทักท้วงแล้ว ไม่เห็นด้วย หากคัดค้านโต้แย้งจริง จะอนุมัติสินเชื่อได้อย่างไร

ตามคำพิพากษา อุตตมยังเบิกความว่า ก่อนเข้าประชุม ชัยณรงค์ถามว่า ร.ท.สุชาย โทรศัพท์มาหาหรือไม่ อุตตมตอบว่าไม่ได้โทร. ศาลจึงเห็นว่า “การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้เครือกฤษดามหานคร ในส่วนของนายอุตตม จึงมิได้เกิดจากการโน้มน้าวให้อนุมัติเพราะได้รับคำสั่งจากนายทักษิณ”

ในทางกฎหมาย เมื่อศาลยกฟ้องทักษิณ ก็เกิดคำถามตัวโต ๆ ว่า แล้วจำเลยอีก 24 คนซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุกไปแล้วเมื่อปี 2558 ทั้งบอร์ดกรุงไทย ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สินเชื่อ และเอกชน ซึ่งไม่มีใครเป็นนักการเมืองเลยสักคน ได้รับการพิจารณาตรงตามระบบหรือไม่

เพราะถ้า คตส.ไม่เอาทักษิณมาโยง คดีนี้ก็จะขึ้นศาลอาญาปกติ ที่มี 3 ศาล ชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา แต่พอเอาทักษิณนำหน้าเป็นจำเลยที่ 1 ทุกคนก็ถูกพา “ขึ้นลิฟต์” มาศาลสูงสุดที่มีชั้นเดียว ใช้ระบบไต่สวน ยึดสำนวน ป.ป.ช. (ในที่นี้คือ คตส.) เป็นหลัก

ทั้ง 24 คนจะโวยว่า “ไม่ยุติธรรม” ก็คงไม่ได้ เพราะยังไง ๆ ก็เป็นศาลยุติธรรม (เดี๋ยวโดนละเมิดอำนาจศาล) แต่ถามว่าพวกเขาเสียสิทธิไหม

ถ้าย้อนดูคดีนี้เมื่อปี 2547 ที่แบงก์ชาติเล่นงานแบงก์กรุงไทย จะเห็นว่าไม่มีใครพาดพิงทักษิณเลย แม้ชัยณรงค์ให้ถ้อยคำกับผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ว่ามี “บุคคลภายนอกขอมา”

ในหนังสือ “ในหนึ่งแผ่นดิน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ก็บอกว่า ทักษิณไม่ขัดข้องที่แบงก์ชาติกล่าวโทษผู้บริหารแบงก์กรุงไทย และไม่ต่ออายุให้ จนเจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งไม่พอใจมาก

นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่เจ้าของหนังสือพิมพ์แตกคอกับทักษิณ จนเกิดวิกฤติการเมือง จนเกิดรัฐประหาร 2549 ตั้ง คตส.เอาผิดทักษิณ แล้ว คตส.ก็เรียกชัยณรงค์เข้าให้ถ้อยคำลับ ระบุว่า “ซูเปอร์บอส” คือทักษิณ ทำให้คดีแบงก์ชาติกล่าวโทษกรุงไทย ยกระดับเป็น “คดีอาญานักการเมือง”

แต่พอใช้ศาลสำหรับนักการเมือง ตัดสินผู้ที่ไม่ใช่นักการเมืองจนติดคุกระนาวไปแล้ว ปรากฏว่านักการเมืองไม่เกี่ยว

นี่เป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ในระบบพิจารณาคดี โฆษกศาลช่วยอธิบายที จำเลยเหล่านี้ที่ติดคุกไปแล้ว (ร.ท.สุชายตายไปแล้ว) จะร้องขอทบทวนอะไรได้หรือไม่ หรือไม่มีสิทธิอะไรเลย เพราะคดีถึงที่สุด ยังไงก็ผิดอยู่ดี

Back to top button