‘กันยา’ ก็ไม่ได้ดีกว่า ‘สิงหา’

เดือนสิงหาคมสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวให้กับนักลงทุนทั่วโลก ตลาดหุ้นไทยก็ไม่รอดสันดอน  ดัชนีเซ็ท ปรับตัวลงไปถึง 3.3%  เทียบกับที่ปรับตัวลงเพียง 1.16% ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา  แต่ใครที่คิดว่าเดือนกันยาฯ น่าจะดีกว่าเดือนสิงหาฯ อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะว่าในเดือนนี้ก็มีเรื่องสำคัญหลายเรื่องที่จะมีผลต่อภาวะตลาดทั่วโลกเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ


พลวัตปี 2019 : ฐปนี แก้วแดง

เดือนสิงหาคมสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวให้กับนักลงทุนทั่วโลก ตลาดหุ้นไทยก็ไม่รอดสันดอน  ดัชนีเซ็ท ปรับตัวลงไปถึง 3.3%  เทียบกับที่ปรับตัวลงเพียง 1.16% ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา  แต่ใครที่คิดว่าเดือนกันยาฯ น่าจะดีกว่าเดือนสิงหาฯ อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะว่าในเดือนนี้ก็มีเรื่องสำคัญหลายเรื่องที่จะมีผลต่อภาวะตลาดทั่วโลกเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ

เดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่มีความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยมากขึ้นและข่าวการค้าได้ทำให้ตลาดเคลื่อนไหวทั้งสองทาง โดยเริ่มจากวันที่ 1 สิงหาคมที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะเลื่อนเก็บภาษีสินค้าจีน 300,000 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี นักกลยุทธ์กล่าวว่า อาจจะเกิดแรงเทขายอย่างรุนแรงในเดือนกันยายนได้อีกเนื่องจากหุ้นกำลังอยู่ในช่วงกลางของการถดถอย และหากมันรูดลงมากก็อาจจะปรับตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วได้

ในสัปดาห์แรกของเดือนกันยายนจะมีการเปิดเผยรายงานสำคัญจำนวนหนึ่งในตลาดต่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ จะเปิดเผยยอดขายเดือนสิงหาคมในวันนี้  และจะมีการเปิดเผยรายงานการจ้างงานเดือนสิงหาของสหรัฐฯ ในวันศุกร์  ตัวเลขเหล่านี้อาจจะช่วยชี้ได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ามากเพียงไร

ถัดมาในช่วงกลางเดือน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประชุมกันในวันที่ 17-18 กันยายน  ซึ่งมีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า เฟดจะลดดอกเบี้ย 0.25% หลังเสร็จสิ้นการประชุม แต่ในขณะเดียวกันก็มีนักกลยุทธ์พันธบัตรบางคนบอกว่า เฟดอาจจะลดดอกเบี้ยถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์หากเศรษฐกิจอ่อนตัวหรือตลาดมีความผันผวนสูงมาก

ธนาคารกลางสหรัฐจะเคลื่อนไหวตามที่คาดหรือไม่ ต้องรอฟังการปราศรัยของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐในวันศุกร์นี้ และก่อนหน้านั้นจะมีการปราศรัยของมิเชล โบว์แมน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐซึ่งเป็นคณะกรรมการของเฟด ในวันพุธ

แต่สิ่งที่นักลงทุนจะจับตามองมากที่สุดในเดือนนี้ น่าจะอยู่ที่ว่าการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ว่าจะเกิดขึ้นตามแผนเดิมตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ยืนยันหรือไม่  การกลับมาสู่โต๊ะเจรจาของจีนและสหรัฐฯ น่าจะเป็นพัฒนาการในทางบวกที่ตลาดอยากจะเห็น หลังจากที่ทั้งสองชาติได้เก็บภาษีซึ่งกันและกันไปแล้วแบบไม่มีใครยอมใครเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ที่จีนและสหรัฐฯ เริ่มทำสงครามการค้ากันเมื่อกว่าหนึ่งปีก่อน  ทุกครั้งที่มีข่าวว่าทั้งสองฝ่ายกำลังเจรจาหรือจะเจรจา มักช่วยคลายความกังวลให้กับนักลงทุนได้เสมอแม้ว่าอาจจะแค่ช่วงสั้น ๆ เท่านั้น

แต่ในความเป็นจริง เรื่องนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูงมากและมีสิทธิ์ที่จะล้มไม่เป็นท่าอีกเหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา โดยล่าสุด จีนได้ไปยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เกี่ยวกับการเก็บภาษีของสหรัฐฯ แล้ว

นี่เป็นครั้งที่สามแล้วที่รัฐบาลปักกิ่งยื่นฟ้องต่อดับเบิลยูทีโอเพื่อท้าทายต่อการเก็บภาษีของสหรัฐฯ และตามระเบียบของดับเบิลยูทีโอ รัฐบาลวอชิงตันมีเวลา 60 วันในการพยายามยุติข้อพิพาท จากนั้นจีนอาจขอให้องค์การการค้าโลกพิพากษา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาหลายปี มันอาจจบลงด้วยการที่จีนได้รับความเห็นชอบจากดับเบิลยูทีโอให้คว่ำบาตรทางการค้าได้ หากพบว่าสหรัฐอเมริกาฝ่าฝืนระเบียบจริง

การเคลื่อนไหวของจีนเช่นนี้ น่าจะชัดแจ้งแดงแจ๋ว่า จีนคงไม่ยอมอ่อนข้อให้กับทรัมป์อีกต่อไป และน่าจะจริงแบบที่ทรัมป์ได้ดักคอไว้ว่า จีนต้องการลากเรื่องนี้ให้ยาวไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีหน้าโดยหวังว่าทรัมป์จะไม่ได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง แล้วค่อยไปเจรจากับคณะบริหารชุดใหม่ของพรรคเดโมแครต ซึ่งน่าจะคุยกันง่ายกว่า

อีกเรื่องหนึ่งที่เริ่มโผล่มาเป็นหนามยอกอกให้กับตลาดในเดือนนี้คือ Brexit นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ของอังกฤษกำลังเจอความเสี่ยงต่ออนาคตทางการเมืองสูงมากเกี่ยวกับการนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ โดยมีหรือไม่มีข้อตกลง

สมาชิกรัฐสภาอังกฤษได้เคลื่อนไหวครั้งแรกที่จะเปิดให้มีการอภิปรายฉุกเฉินเมื่อวานนี้  และจอห์นสันได้ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นมติไม่ไว้วางใจเขา โดยประกาศว่าหากรัฐบาลแพ้ จะมีการลงคะแนนในวันนี้ว่าจะให้จัดเลือกตั้งก่อนกำหนดหรือไม่ ซึ่งการเลือกตั้งน่าจะเป็นวันที่ 14 ตุลาคมมากสุด

สภาอังกฤษกำลังพยายามที่จะผ่านกฎหมายคัดค้านการนำอังกฤษออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลง ซึ่งหากเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบต่อกฎหมายฉบับนี้ จอห์นสันต้องหาทางเลื่อนเวลาออกจากอียูไปอีก 3 เดือนโดยต้องไปเจรจากับอียูใหม่

ความวุ่นวายเรื่อง Brexit  ทำให้เงินปอนด์อ่อนตัวลงในรอบสองปีครึ่ง เมื่อจอห์นสันระบุว่า เขาอาจจัดเลือกตั้งก่อนกำหนดเพื่อขัดขวางความพยายามของส.ส. ซึ่งการอ่อนตัวของเงินปอนด์ก็น่าจะมีผลต่อสกุลเงินอื่น ๆตามมาเช่นกัน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นในเดือนนี้  แต่ความจริงแล้วยังมีข้อมูลและการตัดสินใจของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอื่นๆ อีกที่จะมีผลต่อตลาดมากเช่นกัน

มีสถิติในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ว่า  เดือนกันยายนมักเป็นเดือนที่เลวร้ายกว่าเดือนสิงหาคมในแง่ของการขาดทุน  ประวัติศาสตร์ชี้ว่าเดือนกันยายนไม่ได้เป็นเดือนที่ปรับตัวลงเฉลี่ยมากสุดเท่านั้น แต่ยังเป็นเดือนเดียวที่ปรับตัวลงถี่กว่าปรับตัวขึ้น

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง การเคลื่อนไหวเฉลี่ยของดัชนีเอสแอนด์พี 500 สำหรับทุกเดือน ปรับตัวขึ้น 0.69% แต่การเคลื่อนไหวเฉลี่ยของเดือนกันยายนติดลบ 0.54%  ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับตัวลงในเดือนกันยายน 55% ทำให้เป็นเดือนที่แย่ที่สุดของปี แต่เดือนตุลาคมซึ่งปรับตัวขึ้น 61% เป็นเดือนมีความผันผวนมากกว่าโดยมีการปรับตัวลงลึกกว่าในอดีต

ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ ต้องติดตามกันดู

Back to top button