พาราสาวะถี

จะด้วยกลอนพาไปหรืออย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปพูดกับผู้ประสบอุทกภัยอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ยืนยันการถวายสัตย์ปฏิญาณปฏิบัติครบถ้วนตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ พร้อมถ้อยคำ “มันสมบูรณ์แล้ว ผมถวายสัตย์สมบูรณ์ไหม ไปบอกให้ผมหน่อย อะไรกันนักกันหนาไม่เข้าใจ” ถามว่าเช่นนี้เป็นการชี้นำศาลรัฐธรรมนูญที่ตัวเองเพิ่งเตือนส.ส.ซึ่งจะอภิปรายในวันที่ 18 กันยายนนี้ว่าให้ “ระมัดระวังคำพูด” เพราะเรื่องอยู่ในการพิจารณาของศาลหรือเปล่า


อรชุน

จะด้วยกลอนพาไปหรืออย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปพูดกับผู้ประสบอุทกภัยอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ยืนยันการถวายสัตย์ปฏิญาณปฏิบัติครบถ้วนตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ พร้อมถ้อยคำ “มันสมบูรณ์แล้ว ผมถวายสัตย์สมบูรณ์ไหม ไปบอกให้ผมหน่อย อะไรกันนักกันหนาไม่เข้าใจ” ถามว่าเช่นนี้เป็นการชี้นำศาลรัฐธรรมนูญที่ตัวเองเพิ่งเตือนส.ส.ซึ่งจะอภิปรายในวันที่ 18 กันยายนนี้ว่าให้ “ระมัดระวังคำพูด” เพราะเรื่องอยู่ในการพิจารณาของศาลหรือเปล่า

หรือลืมตัวไปว่าตัวเองยังเป็นหัวหน้าคสช.ที่มีอำนาจเหนือทุกอย่าง พูดอะไรไม่ต้องเกรงใจใคร เช่นนั้น คงต้องไปถามทางฟากของตุลาการในองค์กรศาลรัฐธรรมนูญว่า สิ่งที่ท่านผู้นำพูดนั้นเป็นการชี้นำหรือไม่ ส่วนที่บอกว่า ขณะนี้ไม่รู้สึกกลัว เนื่องจากมีจิตใจบริสุทธิ์ ต้องการทำงานเพื่อประชาชน ไม่ต้องการอยู่ในตำแหน่งนายกฯ เพื่ออำนาจความยิ่งใหญ่ ส่วนตัวไม่เคยคิดเป็นนายกฯ แต่ชะตากรรมกำหนดให้มีวันนี้ ก็เป็นแผ่นเสียงตกร่องที่คำพูดมันสวนทางกับพฤติกรรมที่ทำมาเพื่อการสืบทอดอำนาจทั้งหมด

ความจริงในเมื่อมั่นใจมากขนาดนี้ ทำไมหนีการตอบกระทู้ถามสดในสภา ปล่อยให้ทุกอย่างลากยาวมาจนต้องให้ฝ่ายค้านยื่นญัตติซักฟอก แค่ไปบอกอย่างที่ป่าวประกาศกับประชาชนก็เชื่อได้ว่าทุกอย่างคงจบไปตั้งนานแล้ว แต่ก็อย่างที่รู้กัน สิ่งที่ไปพูดกับชาวบ้านนั้นหวังผลอย่างไร เป็นการพูดในเชิงจิตวิทยาที่พวกถนัดทำไอโอใช้กันอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว บางทีสิ่งที่อดีตนักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พูดถึงบางองค์กรว่า “ด้าน”อาจนำมาใช้กับบางคนได้เหมือนกัน

อุตส่าห์จะโชว์ภาพการกินง่ายอยู่ง่ายของท่านผู้นำเสียหน่อย ด้วยการโพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของกระบอกเสียงรัฐบาลว่า นายกฯ กินข้าวกล่องกะเพราหมูไข่ดาว ก่อนลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วม แต่ปรากฏว่า โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้เข้าไปแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กดังกล่าวด้วยถ้อยคำที่ทำเอาสะอึกอยู่ไม่น้อย “ไปทำงานหรือไปกินข้าว สาระสำคัญของเนื้องานอยู่ตรงไหน กล่องข้าวก็พลาสติกก็ทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วบอกให้คนอื่นรักษาสิ่งแวดล้อมไม่เข้าท่าครับ”

ก่อนจะตามมาด้วยคำสอนทีมงานโฆษกรัฐบาลว่า น่าจะต้องทบทวนเนื้อหาการสื่อสารของท่านนายกฯ ใหม่ รู้ว่าต้องการสื่ออะไรแต่ไม่ใช่อย่างนี้ไม่เนียนไม่เรียนมาใหม่ ทีมโฆษกรัฐบาลต้องแยกแยะสาระสำคัญของการสื่อสารหน่อย อย่าเอาสถานการณ์วิกฤตของชาวบ้านมาเป็นช่องทางขายภาพนายกฯ ไม่ถูกต้อง และที่สำคัญกล่องพลาสติกที่ใส่อาหารของท่านผู้นำนั้นมันทำลายภาพลักษณ์มากกว่าเสียงตบมือ

ก่อนที่ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาลจะออกมาขอโทษแก้เก้อว่า หลังจากท่านผู้นำเห็นกล่องข้าวแล้วก็รีบสั่งให้เจ้าหน้าที่เปลี่ยนทันทีทันใด แหม!มันน่ายกย่องในหัวจิตหัวใจของท่านผู้นำที่รู้ว่าต้องรักษาสิ่งแวดล้อมยังไง แต่บทเรียนนี้ก็น่าจะทำให้ทีมงานได้รู้แล้วว่า การจะสื่อสารสิ่งที่เป็นภาพกิจกรรมของท่านผู้นำในการเมืองที่เปิดกว้าง ทุกคนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยไร้กฎหมายปิดปากนั้น พึงต้องพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ให้รอบคอบเป็นอย่างยิ่ง

นี่คือความจริงที่ว่า ความเนี้ยบเฮียบจัดของท่านผู้นำตลอดเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมานั้น ทุกคนล้วนมีภาพจำว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎ กติกา ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อาจจะมีข้อยกเว้นเพียงเรื่องเดียวคือ การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเห็นว่า สิ่งที่ขาดหายไปนั้นไม่ใช่สาระสำคัญอะไร ไม่จำเป็นต้องใส่ใจ แม้จะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศก็ตาม คงต้องดูว่าองค์กรที่จะวินิจฉัยเห็นด้วยและคล้อยตามที่ท่านผู้นำพูดไปหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นและเป็นไปภายใต้การเมืองหลังเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยคำถาม มีปุจฉาหนึ่งน่าสนใจว่า ตกลงประเทศไทยเวลานี้เราอยู่ในภาวะไหน ปกครองกันด้วยระบอบอะไรกันแน่ น่าสนใจตรงบทสัมภาษณ์ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านเว็บไซต์ประชาไทย ที่เรียกขานระบอบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่า“ระบอบประยุทธ์”

การเปลี่ยนระบอบนั้นต้องดูที่ความพยายามในการรื้อโครงสร้างอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม และดูว่ามีการจัดระเบียบสถาบันของรัฐใหม่อย่างไร สิ่งที่คณะรัฐประหารทำตั้งแต่มีการยึดอำนาจในปี 2557 ภารกิจสำคัญคือการทำสิ่งเหล่านี้ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเกิดสิ่งที่เรียกว่าระบอบประยุทธ์ขึ้นแล้ว และคำว่าระบอบประยุทธ์ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเพียงแค่ตัวพลเอกประยุทธ์คนเดียว แต่หมายรวมถึงองคาพยพในส่วนอื่น ๆ ที่มีการร่วมมือกันด้วย

โดยระบอบประยุทธ์นั้นแยกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงที่อยู่ภายในอำนาจเผด็จการทหารกับช่วงหลังการเลือกตั้ง ซึ่งองคาพยพของระบอบประยุทธ์นั้นจำเป็นต้องเปลี่ยนเสื้อคลุมใหม่และสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง สภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหลังการเลือกตั้งอาจเรียกได้ว่าเป็น ระบอบเผด็จการครึ่งใบ หรือ ระบบเผด็จการจากการเลือกตั้ง ซึ่งแตกต่างจากยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ถูกขนานนามว่าเป็น ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ

ดังนั้น การนำเอายุคประยุทธ์ไปเทียบเคียงกับยุคป๋าเปรมจึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว ความแตกต่างของสิ่งที่ประจักษ์นำมาเปรียบเทียบคือ ยุคของพลเอกเปรมนั้นกองทัพยอมปรับตัว แต่ยุคนี้กองทัพและคณะรัฐประหารยังไม่ได้อยู่ในโหมดที่อยากจะปรับตัวหรือประนีประนอม สถานการณ์ของบ้านเมืองจึงดำเนินไปในลักษณะเผด็จการครึ่งใบ ด้านที่เป็นเผด็จการมันเยอะกว่าด้านที่เป็นประชาธิปไตย แน่นอนว่าลักษณะแบบนี้ผู้ที่ชื่นชอบเป็นพิเศษและแสดงออกนอกหน้าคือ ผู้ที่ได้รับการปูนบำเหน็จจากปลายกระบอกปืนนั่นเอง

คงด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้แม้จะผ่านการเลือกตั้ง แม้จะมีสภาที่ประชาชนเลือก และมีรัฐบาลที่อ้างตัวว่าผ่านการเลือกตั้งมาจากประชาชน แต่ผู้นำเองยังทำตัวเหมือนเป็นผู้นำเผด็จการที่สามารถสั่งหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ซ้ายหันขวาหันได้ หากเป็นไปเช่นนี้ คงไม่ต้องไปคาดเดากันว่าบทสรุปของเรื่องต่าง ๆ ที่สังคมเฝ้าจับตามองนั้นมันจบลงอย่างไร หลายคนที่หวังเห็นการเปลี่ยนแปลงคงได้แต่ปลงเพราะทุกอย่างยังเหมือนเดิม

Back to top button