สัญญาณเตือนภัยจาก Inverted Yield Curve

ช่วงนี้แวดวงตราสารหนี้ มีการหยิบยกเรื่อง “อัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (Bond Yield)” ขึ้นมาพูดถึงกันอย่างแพร่หลายกับสภาวะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น “มากกว่า” อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว อาทิ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี หรือที่เรียกว่า “อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น” หรือ Inverted Yield Curve นั่นเอง.!!


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

ช่วงนี้แวดวงตราสารหนี้ มีการหยิบยกเรื่อง “อัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (Bond Yield)” ขึ้นมาพูดถึงกันอย่างแพร่หลายกับสภาวะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น “มากกว่า” อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว อาทิ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี หรือที่เรียกว่า “อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น” หรือ Inverted Yield Curve นั่นเอง.!!

โดยคำว่า Yield Curve คือ เส้นแสดงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทน (yield) กับอายุคงเหลือของพันธบัตร (maturity) ในภาวะปกติพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวกว่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นเนื่องจากการลงทุนระยะยาวมีความเสี่ยงมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของทิศทางอัตราดอกเบี้ย หรือความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มสูงขึ้น

ปรากฏการณ์ Inverted Yield Curve อาจเกิดขึ้นได้บางช่วงเวลา จึงมีการติดตามดูส่วนต่างระหว่างพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีและอายุ 2 ปี หากมีค่าติดลบ นั่นแสดงว่าเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นแล้ว จากสถิติที่ผ่านมา Inverted Yield Curve มักเกิดขึ้น ก่อนเศรษฐกิจจะเป็นขาลงหรือเศรษฐกิจถดถอย

ดังนั้น Inverted Yield Curve จึงเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจอาจหดตัวในอนาคต..!!

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า อดีตที่ผ่านมา Inverted Yield Curve สามารถพยากรณ์การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอยู่หลายครั้ง ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ กรณีของสหรัฐฯ โดยช่วงปีค.ศ.1980 เป็นต้นมา สหรัฐฯ เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายใน 1 ถึง 2 ปี หลังจากเกิด Inverted Yield Curve ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี Inverted Yield Curve มีการส่งสัญญาณผิดพลาดเช่นกันอย่างเช่นปีค.ศ. 1982 และปีค.ศ. 1998 แม้จะเกิด Inverted Yield Curve แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยตามมาแต่อย่างใด

สำหรับประเทศไทย ปีนี้มีความเสี่ยงเกิดปรากฏการณ์ Inverted Yield Curve เมื่อผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ตกต่ำอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ลงมาต่ำสุดที่ระดับ 1.4% เมื่อเทียบปี 2559 ที่ต่ำสุดอยู่ที่ระดับ 1.7% ถือว่าต่ำลงมาก จนแทบใกล้เคียงกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นแล้ว

หากย้อนดูสถิติที่ผ่านมา จึงมองเห็นสัญญาณความเป็นไปได้ว่า “เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” ที่ชัดเจนมากขึ้น ดูได้จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลง 0.25% และมีโอกาสปรับลงอีก 0.25% ภายในสิ้นปีนี้.!?

ที่สำคัญมีตัวเร่งที่ทำให้เกิดภาวะ “เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” นั่นคือปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน..ที่ไม่สามารถประเมินได้ว่าจะจบลงหรือไม่..จบลงเมื่อไหร่และจบลงอย่างไร..!!?

แต่ที่แน่ ๆ..ความเสี่ยงจากการเกิด Inverted Yield Curve กำลังส่งสัญญาณเตือนว่า “เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย” อย่างชัดเจน..!!??

Back to top button