ย้อนรอย 10 เหตุการณ์ใหญ่ฉุดซัพพลายน้ำมันวูบ ดันราคาวิ่งทะลุ 200%

ย้อนรอย 10 เหตุการณ์ใหญ่ฉุดซัพพลายน้ำมันวูบ ดันราคาวิ่งทะลุ 200%


สืบเนื่องจากเหตุการณ์โจมตีโรงผลิตน้ำมันดิบ 2 แห่งในประเทศซาอุดิอาระเบียเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (14 ก.ย. 62) ส่งผลให้การผลิตน้ำมันของซาอุฯหายไปถึง 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่สามารถผลิตได้ 9.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ทั้งนี้ ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้รวบรวมเห็นการครั้งสำคัญ 10 เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อตลาดน้ำมันโลก รวมถึงระยะเวลาของแต่ละเหตุการณ์ และราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละครั้ง ประกอบด้วย

1) มาตรการห้ามส่งออกน้ำมันของประเทศอาหรับ (Arab Embargo) เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1973 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนตลาดโลกครั้งใหญ่ที่สุด โดยภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ ราคาน้ำมันนั้นพุ่งขึ้นถึง 231.6% จากการหดหายของซัพพลายน้ำมันโลกที่หายไป 3.3%

2) ประท้วงเวเนซุเอลา ปี ค.ศ. 2002 ที่ฮูโก้ ชาเวซ ไล่พนักงานของ เปโตรเลออส เดอ เวเนซุเอลา หรือ พีดีวีเอสเอ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจน้ำมันยักษ์ใหญ่ของเวเนซุเอลาออกไปถึง 18,000 คน ซึ่งภายในระยะเวลา 2 อาทิตย์ ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 117.5% จากซัพพลายโลกที่หายไป 5.1%

3) การปฏิเสธเพิ่มกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบีย ในปี ค.ศ. 1979 ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นถึง 64.5% ภายในระยะเวลาเพียง 2 อาทิตย์ และส่งผลให้ซัพพลายโลกหายไปถึง 2.5%

4) การรุกรานของอิรักสู่คูเวต ในปี ค.ศ. 1990 จากประเด็นที่อิรักกล่าวหาคูเวตว่าได้ขโมยน้ำมันของอิรักโดยการขุดเจาะน้ำมันแบบเฉียงเข้ามาใต้ดินแดนอิรัก จากเหตุการณ์นี้ ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น 58.4% ในระยะเวลา 6 อาทิตย์ จากซัพพลายโลกที่หายไป 0.6%

5) การบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 (จำกัดค่ากำมะถันที่ 10 PPM) ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 2008 (ประมาณ 3 เดือน) ผลักดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้น 45.2% จากซัพพลายโลกที่หายไป 1.3%

6) การประกาศลดกำลังกายผลิตของ OPEC เพื่อพยุงราคาน้ำมันในปี ค.ศ. 1999 หลังจากที่ราคาน้ำมันลดลงต่ำอยู่ที่ประมาณ 13 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งภายในระยะเวลา12 อาทิตย์หลังจากมีการประกาศลดการผลิต ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น 46.5% ถึงแม้โดยรวมแล้ว ซัพพลายโลกจะเพิ่มขึ้นมา 0.1% ก็ตาม

7) การปรับตัวเพิ่มขึ้นของความต้องการของสารสกัดจากการกลั่นน้ำมันของประเทศจีน ในปี ค.ศ. 2007 ส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 31.1% ภายในระยะเวลา 6 อาทิตย์ แม้ซัพพลายโลกจะเพิ่มขึ้นมา 0.7%

8) ซาอุดิอาระเบียสั่งลดการส่งน้ำมันให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในปี ค.ศ. 1979 ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น 30.7% ภายในระยะเวลาเพียง 1 อาทิตย์ และซัพพลายน้ำมันโลกที่หายไป 0.2%

9) สงครามอิหร่านกับอิรัก ในปี ค.ศ. 1980 ที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 28.4% ภายในระยะเวลาเพียง 2 อาทิตย์ จากซัพพลายโลกที่หายไป 1.5%

10) วิกฤตการณ์ลิเบีย เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2011 ด้วยการประท้วง และการเดินขบวนครั้งใหญ่ทั่วประเทศจากกระแสอาหรับสปริงเพื่อต่อต้านรัฐบาลของ มูอัมมาร์ กัดดาฟี แล้วลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองลิเบียครั้งที่หนึ่ง ส่งผลให้กำลังกายผลิตลดหายไปอย่างมาก จึงทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น 27.7% จากซัพพลายโลกที่หายไป 0.7%

ทั้งนี้ ในส่วนของการลดกำลังการผลิตของ OPEC รอบล่าสุดที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 จนถึงปัจจุบันนี้ ราคาน้ำมันได้ปรับขึ้น 7.8% จากซัพพลายโลกที่หดลง 1.7%

อย่างไรก็ดี จึงเป็นที่น่าจับตาว่ากำลังผลิต 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวันที่หายไปจากการผลิตของซาอุดิบาระเบียนั้นจะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันมากน้อยขนาดไหน เนื่องจากกำลังการผลิตที่หายไปนั้น คิดเป็น 6% ของความต้องการในตลาดโลกที่ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน

Back to top button