ครม.เห็นชอบกรอบวงเงิน 7 พันล้าน บรรเทา-ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเร่งด่วน

ครม.เห็นชอบกรอบวงเงิน2 พันล้าน ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 5 พันบาทเร่งด่วน


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบวงเงินเพื่อแก้ไขและบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนในพื้นที่จากอุทกภัยโดยกระทรวงมหาดไทยเสนอขออนุมัติกรอบวงเงิน 2,092,400,000 บาท เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย ครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามข้อมูลครัวเรือนผู้ประสบภัยเบื้องต้นที่สำรวจจริง และกรอบวงเงิน 5,550,000,000 บาทเพื่อช่วยเหลือ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยรับและดำเนินการ

สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการช่วยเหลือส่วนนี้มาจากงบฯกลาง และเป็นการช่วยเหลือในระยะสั้น แต่จะใช้สำหรับการช่วยเหลือในระยะยาวด้วย เพื่อให้ประชาชนกลับเข้าบ้านเรือนโดยเร็วที่สุดและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะเร่งรัดโดยเร็วที่สุด และคาดว่าเงินช่วยเหลือจะถึงมือประชาชนภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ พร้อมกำชับให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ไม่มีการทุจริต

ทั้งนี้ จะต้องเร่งรัดกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินจำนวนครัวเรือนที่จะช่วยเหลือได้ เนื่องจากยังไม่สามารถสำรวจความเสียหายได้ทั้งหมดแต่อยู่ในพื้นที่ 29 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,092.4 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากพายุโซนร้อน “โพดุล” และพายุดีเปรสชั่น “คาจิกิ” ครัวเรือนละ 5,000 บาท ซึ่งเบื้องต้นมีข้อมูลผู้ประสบภัย 29 จังหวัด จำนวน 418,480 ครัวเรือน โดยให้ธนาคารออมสินเป็นหน่วยรับงบประมาณให้เบิกจ่ายในงบรายจ่ายอื่น ลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไป รวมทั้งสามารถถัวจ่ายข้ามจังหวัดได้ และให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นหน่วยดำเนินการ

โดยกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยใน 3 กรณี คือ 1.น้ำท่วมถึงบ้านพักอาศัยโดยฉับพลันและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย 2.บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย และ 3.บ้านพักอาศัยได้รับความเสียหายจากอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม

ทั้งนี้ จะต้องเป็นที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่อำเภอออกให้ ทั้งนี้ต้องมีการประชาคมในหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ 2.กรณีที่เป็นผู้ประสบภัยซ้ำซ้อนทั้ง 3 กรณีให้ได้รับความช่วยเหลือเพียงกรณีเดียว และ 3.กรณีประสบภัยจากพายุโซนร้อน”โพดุล” และพายุดีเปรสชั่น “คาจิกิ” ให้ได้รับความช่วยเหลือเพียงเหตุการณ์เดียว

สำหรับผู้ประสบภัยทั้ง 29 จังหวัดที่ได้รับความช่วยเหลือครั้งนี้ ได้แก่ กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, ชุมพร, เชียงใหม่, ตราด, นครพนม, น่าน, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, แพร่, มหาสารคาม, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, ระนอง, ลำปาง, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สระแก้ว, สุโขทัย, สุรินทร์, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ, อุดรธานี, อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี

ขณะที่มีพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.62 จนถึงปัจจุบันได้รับผลกระทบรวม 32 จังหวัด และยังมีสถานการณ์เหลืออยู่ใน 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี, ยโสธร, ร้อยเอ็ด และ ศรีสะเกษ

 

Back to top button