ดอกเบี้ยกดหุ้นแบงก์

กลับมาเขียนเรื่องหุ้นกลุ่มธนาคารอีกรอบ


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

กลับมาเขียนเรื่องหุ้นกลุ่มธนาคารอีกรอบ

เพราะราคาหุ้นยังร่วงลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ 4 แห่ง BBL KBANK KTB และ SCB

P/E ต่างลงไปต่ำกว่า 10 เท่ากันแล้ว

ส่วน P/BV ก็รูดต่ำลงเช่นกัน อย่างแบงก์กรุงเทพ BBL ลงไปอยู่ที่ 0.78 เท่า, กสิกรไทย KBANK อยู่ที่ 0.95 เท่า, กรุงไทย KTB เหลือ 0.75 เท่า และไทยพาณิชย์ SCB อยู่ที่ 1.01 เท่า

SCB วานนี้ราคาปิด 115.00 บาท ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี

แม้ว่าโบรกฯ 12 แห่ง จะแนะนำซื้อ 10 แห่ง ถือ 1 แห่ง ขาย 1 แห่ง

และมีราคา IAA Consensus Target Price ที่ 144.50 บาท แต่ก็ยังหยุดการลงของราคาหุ้นไม่ได้

ปัจจัยลบที่กดดันหุ้นแบงก์มีอยู่ประเด็นเดียวคือเรื่องดอกเบี้ยนั่นแหละ

นักลงทุนต่างหวั่นว่า กำไรของกลุ่มธนาคารจะปรับลง จากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลง หลังจาก กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาก่อนหน้า 0.25%

และอาจจะมีแนวโน้มปรับลงอีก 0.25% ในปีนี้ (จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว)

หากเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

เชื่อว่ารายได้จากดอกเบี้ยของแบงก์กระทบหนักแน่ ๆ

ล่าสุด ผู้บริหารของ กสิกรไทย และแบงก์กรุงเทพ ต่างออกมายอมรับกลาย ๆ แล้วว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 จะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่เป็นขาลง

เพราะธนาคารต่างปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของกลุ่มลูกค้าต่าง ๆ ลงมา

ส่วนเงินฝาก ยังไม่ได้ปรับลงมากันมากนัก ทำให้ต้องแบกรับส่วนต่างหรือ NIM กันพอสมควร

เชื่อว่านักลงทุนที่ทิ้งหุ้นกลุ่มแบงก์ออกมา ไม่น่าจะมีแค่รายย่อย

ทว่าหลัก ๆ อาจจะมาจากนักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะกองทุนต่าง ๆ ที่ทยอยปรับพอร์ตปล่อยของออกมาต่อเนื่อง

เพราะลำพังรายย่อย ไม่น่าจะทิ้งหุ้นจนกดหุ้นกลุ่มแบงก์ให้ร่วงลงต่อเนื่องได้มากขนาดนี้

จึงน่าจะมีแต่นักลงทุนสถาบันที่เป็นกลุ่มหลัก ๆ ขายออกมา เพื่อลดความเสี่ยง และอาจจะหันไปเล่นหุ้นในกลุ่มอื่น ๆ หรือหุ้นที่กำลังไอพีโอ เพิ่มทุน และถือเงินสดรอจังหวะ

ยังไม่มีคำตอบว่า กองทุนจะหยุดขายเมื่อไหร่

ใครมีหุ้นกลุ่มแบงก์ แล้วยังติดดอยอยู่ ก็ต้องรอกันต่อไป หรือไม่ก็ตัดขาดทุนกันไปก่อน

เว้นแต่ มีกระสุนเหลือ ก็ต้องซื้อเพื่อถัวเฉลี่ย หรือดึงต้นทุนลงมา แล้วถือว่า รอรับเงินปันผลกันไป เพราะอัตราผลตอบแทนของแต่ละแบงก์นั้น พุ่งเกินกว่า 4% แล้ว

นักวิเคราะห์ของโบรกฯ ต่าง ๆ ส่วนใหญ่ยังมีมุมมองเชิงบวกกับหุ้นแบงก์

และยังคงแนะนำ “ซื้อ”

เช่น SCB กับ KBANK รวมถึงแบงก์ขนาดกลาง

ใครที่เป็นกลุ่มนักลงทุนที่ลงทุนปานกลางถึงยาว นักวิเคราะห์ต่างมองว่า นี่คือช่วงเวลาเหมาะ เพราะผลตอบแทนเงินปันผลนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง

KTB ผลตอบแทนเงินปันผล 4.25%

BBL ผลตอบแทนเงินปันผล 3.80%

SCB มีผลตอบแทนเงินปันผล 4.68% และ KTB ผลตอบแทนเงินปันผล 2.60%

ประเด็นของปัญหาคือว่า นักลงทุนยังไม่รู้ว่า กองทุนจะหยุดขายในช่วงราคาไหน

และราคาจะลงไปอีกหรือเปล่า

เพราะทุกคนต่างก็อยากได้ราคาหุ้นในช่วงต่ำสุดเพื่อเก็บเข้าพอร์ต

Back to top button