ดักเก็บ 16 หุ้นเด่น SET100 เน้น P/E ต่ำ-เทรดต่ำบุ๊ก! รับตลาดฯผันผวน

ดักเก็บ 16 หุ้นเด่น SET100 เน้น P/E ต่ำ-เทรดต่ำบุ๊ก! รับตลาดฯผันผวน


ทิศทางการลงทุนในเดือนตุลาคม 2562 มีหลายประเด็นที่น่าจับตาโดยไฮไลต์ของการลงทุนเดือนนี้อยู่ที่การกลับมาเจรจากันอีกครั้งระหว่างสหรัฐ-จีนในวันที่ 10-11 ต.ค. แม้นักลงทุนจะพยายามคาดหวังในเชิงบวกแต่สถานการณ์ก็ยังน่าสับสนและคาดเดาไม่ได้ พร้อมเป็นปัจจัยเสี่ยงของตลาดหุ้นได้ตลอดเวลา อีกทั้งถ้อยแถลงของประธาน FED ในวันศุกร์นี้(11ต.ค.62)ว่าจะมีมุมมองเศรษฐกิจอย่างไรและจะส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคตหรือไม่

แน่นอนประเด็นดังกล่าวทำให้นักลงทุนยังรอความชัดเจนดังนั้นการลงทุนช่วงนี้ยังเน้นไปที่หุ้นรายตัวและมีพื้นฐานแกร่งเป็นหลัก ดังนั้นทีมข่าว ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรวจกลุ่มหุ้น SET100 มานำเสนอ โดยครั้งนี้เน้นหุ้น P/E ต่ำกว่าตลาดหลักทรัพย์ อยู่ที่ระดับ 18.46 เท่า (ณ วันที่ 9 ต.ค.62) และราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชีดังตารางประกอบ

โดยครั้งนี้มีหุ้นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวมากถึง 16 ตัว อาทิ IRPC,SCB,TMB,SIRI,BLAND,AP,BANPU,ANAN,PSH, BCP,STA,KTB,TCAP,PTTGC,KBANK และ BBL ซึ่งหากสังเกตจะพบว่ากลุ่มหุ้นพลังงาน,แบงก์,อสังหาริมทรัพย์เข้ามาติดมากสุด

อย่างไรก็ตามแม้ว่ากลุ่มหุ้นดังกล่าวจะปรับตัวลงแรงเกินพื้นฐานเนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อผลประกอบการไตรมาส 3/62 ที่จะเริ่มประกาศในเร็วๆนี้ บวกกับปัจจัยลบในต่างประเทศโดยเฉพาะการเจรจาส่งครามการค้าสหรัฐ-จีนกดดันแต่ในมุมมองของนักวิเคราะห์ในกลุ่มดังกล่าวยังคงแนะนำให้ลงทุนเนื่องจากหุ้นเหล่านี้ยังมีพื้นฐานแกร่งและให้ผลตอบแทนในระดับสูง  การอ่อนตัวลงระยะนี้จึงเป็นโอกาสในการเข้าสะสมหุ้นดีพื้นฐานแกร่งอีกครั้ง

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดมากที่สุด คือ ประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยรองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ จะเป็นผู้แทนจากฝ่ายจีน ไปเจรจากับ US ในวันที่ 10-11 ตุลาคมนี้ ท่ามกลางความคาดหวังบวก หลังปธน. Trump เผยสหรัฐฯและจีนอาจบรรลุข้อตกลงได้เร็วกว่ากำหนด

โดยมุมมองประเมินว่าท่าทีของทั้งสองฝ่ายผ่านจุดที่แข็งกร้าวที่สุดไปแล้ว หลังประเด็นการค้าเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สะท้อนจากรายงาน ISM Manufacturing เดือน ก.ย. ของสหรัฐฯ อ่อนตัวแรงสู่ 47.8 จุด จาก 49.1 จุด ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ขณะที่จีนนั้นก็เริ่มเห็นสัญญาณต่างชาติย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศแล้ว

ดังนั้นจึงประเมินโอกาสที่สหรัฐฯและจีนจะออกมาตรการตอบโต้กันเพิ่มเติมนั้นจำกัด ขณะที่ให้น้ำหนักที่ทั้งสองประเทศจะให้ความสำคัญต่อการเจรจากันมากกว่า โดยในการเจรจารอบนี้ จับตาภาษีนำเข้าวงเงิน 2.5 แสนล้านเหรียญ ก่อนที่ Trump จะเรียกเก็บจากจีนเพิ่มสู่ 30% จากปัจจุบัน 25% ที่จะมีผล 15 ต.ค. นี้

ซึ่งหากการเจรจาออกมาดี อาจจะมีการเลื่อน/ยกเลิกการปรับขึ้นภาษีดังกล่าวได้ จะเป็น Upside ต่อตลาด แต่ในกรณีที่กำหนดการเก็บภาษียังเป็นไปตามแผนเดิม คาดสินทรัพย์เสี่ยงจะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากตลาดรับรู้ความเสี่ยงดังกล่าวไปมากแล้ว

นอกจากนี้การประชุม FOMC 29-30 ต.ค. Nomura คาด FED จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps สู่ 1.5-1.75% เพื่อเป็น Insurance Cut ป้องกันการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยในช่วงหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯค่อนข้างผสมผสาน ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการค้ายังคงมีอยู่

ด้านสหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ (Brexit) ในวันที่ 31 ต.ค. นี้ โดยการประชุมรัฐสภาจะเริ่มขึ้น 14 ต.ค. จะเป็นการเร่งกระบวนการ Brexit ไม่ว่าจะเป็น การเสนอร่าง Brexit ฉบับใหม่ หรือการเจรจากับ EU เพื่อขยายเส้นตายไปเป็น 31 ม.ค. ทำให้โอกาสเกิด Hard Brexit จำกัด หลังร่าง No-Deal Brexit มีผลบังคับใช้เป็นกฏหมายแล้ว

นอกจานี้การรายงานผลประกอบการไตรมาส 3/62 ของกลุ่มธนาคาร คาด 9 ธนาคารรายงานกำไรสุทธิรวมที่ 5.06 หมื่นล้านบาท -6.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน –3.6% เทียบไตรมาสก่อนหน้า หลักๆมาจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้นตาม NPL ขณะที่ NIM ถูกกดดันจากการลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ส.ค.62 25bps กดดันรายได้ดอกเบี้ยเติบโตเพียงเล็กน้อย ผสานแนวโน้มธุรกิจประกันที่ยังอ่อนตัว ทำให้งบไตรมาส 3/62  ของธนาคารยังไม่สดใส แต่อย่างไรก็ดีราคาหุ้นในกลุ่มเข้าสู่จุดที่น่าสนใจ หลัง Dividend Yield สูงกว่า 4% และ PBV ต่ำกว่า 1เท่าและใกล้เคียงจุดต่ำสุดปี 2008 ทำให้น่าสนใจซื้อลงทุน

 

บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ทิศทางดอกเบี้ยโลกที่ยังเป็นขาลงและล่าสุดแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี อยู่บริเวณ 30.3 บาท หากนับตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าราว 7.1%ytd  (เฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบัน ytd อยู่ที่ 31.3 บาท/ดอลลาร์ VS.สมมติฐาน ASPS คาด 32 บาท/ดอลลาร์) หากเงินบาทยังแข็งค่าใกล้เคียงปัจจุบันที่ 30.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปี 2562 จะทำให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ที่ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่าสมมติฐาน และเป็นการแข็งคาดมากสุดเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆในภูมิภาค

โดยเงินบาท/ดอลลาร์ที่แข็งค่าหุ้นที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี เนื่องจากหุ้นในกลุ่มพลังงานส่วนใหญ่ จะมีภาระหนี้อยู่ในสกุลดอลลาร์  ซึ่งเงินบาท/ดอลลาร์ที่แข็งค่า ทำให้เงินต้นที่ต้องชำระดอกเบี้ยลดลง และมีโอกาสบันทึกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ในงบกำไรขาดทุน  โดยชื่นชอบ  PTTEP(FV@B166)  จะได้รับประโยชน์จากค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีที่จะลดลง ซึ่งทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าจะทำให้ PTTEP จ่ายค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีลดลงราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองเป็น “ลบ” ต่อภาพรวมของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย โดยปัจจัยที่จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออัตราการเติบโตโดยรวมของกลุ่มช่วงปีนี้และปี 2563 คือความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อ่อนแอ อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจมหภาค มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น และยูนิตโครงการคอนโดมิเนียมที่ยังขายไม่ออกที่ปรับสูงขึ้นท่ามกลางทิศทางราคาที่ดินที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ จำนวนมากหันมาเน้นการระบายสินค้าคงคลังกันมากขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่มีหนี้สูงขณะที่มีความสามารถในการสร้างรายได้การขายต่ำ จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์เช่นนี้

แม้หุ้นในกลุ่มอสังหาฯ หลายบริษัทจะมีราคาหุ้นที่ถูกในขณะนี้แต่ก็จะอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไปจนกว่าจะสามารถปรับสภาพการดำเนินงานให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้ ทั้งนี้ เรายังคงเลือก LH ORI และ AP เป็นหุ้นเด่นของเราในกลุ่มนี้

อนึ่ง PEG Ratio คืออะไร Price/Earnings To Growth หรือ PEG Ratio คือ อัตราส่วนที่ใช้ในการประเมินมูลค่าหุ้น ซึ่งถูกคิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของ P/E Ratio ที่ไม่ได้มีการนำเอาอัตราการเติบโตของผลกำไรมาร่วมคำนวณด้วย ทำให้ค่า P/E ของหุ้นที่มีอัตราการเติบโตสูง (Growth Stock) อาจจะดูมีค่ามากเกินไปจนไม่น่าลงทุน ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วเมื่อพิจารณาถึงเปอร์เซ็นต์การเติบโต มูลค่าหุ้นยังอยู่ในระดับที่น่าลงทุนอยู่

ส่วน P/E Ratio คืออัตราส่วนทางการเงินที่เทียบกันระหว่าง Price/Earning Per Share (ราคา หารด้วย กำไรสุทธิต่อหุ้น)ถ้าเรียงประโยคแบบภาษาเข้าใจง่ายก็คือการนำราคาหุ้น หารด้วย กำไรต่อปี แล้วดูว่าราคาเป็นกี่เท่าของกำไร หรือ ซื้อตอนนี้ อีกกี่ปีคืนทุนนั่นเอง!! ตัวเลขนี้หากยิ่งต่ำหุ้นก็จะถูกมองว่าถูก แต่หุ้น P/E ถูกก็ใช่ว่าจะดีเสมอไปเพราะอาจจะสะท้อนความกังวลบางอย่างต่อบริษัทก็เป็นได้

ด้าน P/BV คือ (Price/Book Value) โดย Book Value คิดมาจาก Equity/Number of Shares โดยทั่วไปแล้วค่า P/BV นี้ยิ่งต่ำยิ่งดี ตัวเลขมาตราฐานที่มักจะใช้เป็นฐานก็คือ 1 เท่า หากสามารถซื้อหุ้นที่มีค่า P/BV น้อยกว่า 1 ได้ก็หมายความว่าสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของบริษัท

ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่านและใช้องค์ประกอบหลายๆส่วนในการตัดสินใจเข้าลงุทน

Back to top button