ชีวิตติดเน็ต & โอกาสธุรกิจออนไลน์

ด้วย “พลวัตทางเทคโนโลยี” ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไป ข้อมูลจากศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ของธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า ปี 2563 การจับจ่ายผ่าน “ธุรกิจออนไลน์” มีแนวโน้มสูงกว่าการใช้จ่ายแบบดั้งเดิม (Traditional) ประมาณ 5 เท่าตัว


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

ด้วย “พลวัตทางเทคโนโลยี” ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไป ข้อมูลจากศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ของธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า ปี 2563 การจับจ่ายผ่าน “ธุรกิจออนไลน์” มีแนวโน้มสูงกว่าการใช้จ่ายแบบดั้งเดิม (Traditional) ประมาณ 5 เท่าตัว

จากแนวโน้มการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของคนไทย จะขยับเพิ่มสัดส่วนเป็น 85% ช่วงปี 2563 จากปัจจุบันอยู่ที่ 82% ระยะเวลาการเชื่อมต่อนานถึง 9 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน ถือเป็นประเทศ ที่ใช้ อินเทอร์น็ตมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากฟิลิปปินส์ ที่ใช้อยู่ 10 ชั่วโมง 2 นาที และบราซิลที่ใช้ 9 ชั่วโมง 29 นาที โดยอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทยยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ที่มีการใช้งานราว  6 ชั่วโมง 42 นาที (ข้อมูลจาก Global digital report ประจำปี 2560-2562)

ที่สำคัญแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยมี “ชีวิตติดเน็ต” เพิ่มมากขึ้น

กลุ่ม GEN C (Connected Consumer) หรือกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ โดย 2 ใน 3 ของผู้บริ โภคกลุ่มนี้ พร้อมออนไลน์ตลอดเวลา มีระยะเวลาอยู่บนโลกออนไลน์ ไม่ต่ำกว่าวันละ 4 ชั่วโมง​และ 60% จะออนไลน์ผ่านสมาร์ตโฟน ส่วนเหตุผลทำให้คนเชื่อมต่อกันมากขึ้น สืบเนื่องจากคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ทำให้การใช้งบทำตลาดของสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ทั่วโลก หันมาใช้ผ่านมาทางสื่อดิจิทัลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยสัดส่วนกว่า 54% หรือประมาณ 385,000 ล้านบาท เติบโต 16% จากปีก่อนหน้า ต่างจากตัวเลขฝั่ง Traditional Media แทบไม่มีการเติบโตเลย

ขณะที่ประเทศไทย ตัวเลขเม็ดเงินสื่อโฆษณาดิจิทัล เติบโตก้าวกระโดดจากระดับ 9,500 ล้านบาท ช่วงปี 2559 มาเป็น 18,000 ล้านบาท ช่วงปี 2562 ช่องทางที่สามารถสื่อสาร ผ่านผู้บริโภคโดยตรงอย่างการใช้ Influencer ที่มีอัตราการเติบโตอย่างโดดเด่น จากพฤติกรรมผู้บริโภค 90% เลือกเชื่อข้อมูลจากคนรอบข้าง จาก Word of Mouth ของผู้บริโภคด้วยกันเองมากกว่าสิ่งที่แบรนด์เป็นคนพูด โดยมีเพียง 33% ที่เชื่อข้อมูลจากแบรนด์อยู่ สะท้อนถึงผู้บริโภคที่กลายเป็นกลุ่ม  Connected consumer อย่างชัดเจน

กลุ่ม Baby Boomer หรือ กลุ่มคนไทยอายุ 55 ปีขึ้นไป มีการใช้อินเทอร์เน็ตนานขึ้นเป็นเท่าตัว ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากตัวเลขการใช้งาน 4.6 ชั่วโมงปี 2560 ขยับเป็น 8.4 ชั่วโมง ในปี 2561 และมีการใช้งานโซเชียลมีเดีย นานกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ต่างจาก Gen Y และ Gen Z มากนัก​

ที่สำคัญกลุ่มสูงวัยที่อยู่บนออนไลน์ มักมีการจับจ่ายไปด้วย จากข้อมูลปี 2560 พบว่า จำนวนกว่า 46% ซื้อของออนไลน์ เติบโตขึ้นกว่า 11.5% เม็ดเงินกลุ่มสูงวัยใช้ช้อปปิ้งออนไลน์สูงสุดถึง 32,000 บาท และจำนวนการช้อปปิ้งอยู่ที่ 15-16 ครั้งต่อปี ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครั้งที่ราว 2,000 บาท การเติบโตดังกล่าว มาจากความมั่นใจที่เพิ่มมากขึ้น

โดยพฤติกรรมผู้สูงวัยในอนาคต แตกต่างจากผู้สูงวัยปัจจุบัน โดยเฉพาะความคุ้นเคยการใช้เทคโนโลยี ทำให้มีโอกาสที่ธุรกิจกลุ่ม e-Commerce มีการเติบโตสูงขึ้น เพราะตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มสูงวัยด้วยบริการซื้อและส่งถึงบ้าน รวมทั้งการพัฒนาการของ e-Commerce และ Social Commerce ที่ใช้งานง่ายและกว้างมากขึ้น

กลุ่มคนโสด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากสถิติการแต่งงานหรือจดทะเบียนน้อยลง และหย่าร้างมากขึ้น ทำให้คนโสดมีแนวโน้มเหงามากกว่าคนกลุ่มอื่น และนิยมกินและช้อปเพื่อแก้เหงา ทำให้อัตราการช้อปปิ้งของกลุ่มคนโสดสูงกว่า คนมีครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร แฟชั่น

โดยมีค่าใช้จ่ายมากกว่าคนที่มีครอบครัวแล้ว ทุกช่วงอายุ โดยเฉลี่ยกว่า 10% เมื่อเทียบครัวเรือน ที่มีสมาชิกเพียง 2 คน หรือ 3 คนขึ้นไป รวมทั้งพบว่า คนโสด มีพฤติกรรมการใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม​มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เฉลี่ย 35% และใช้จ่ายกลุ่มแฟชั่น เสื้อผ้ามากกว่ากลุ่มอื่น 43% เช่นเดียวกับข้อมูลจากการช้อปปิ้ง พบว่า คนโสดมีการใช้จ่ายต่อบิลสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ เฉลี่ย 30%

ข้อมูลจาก IMRC ​บริษัทวิจัยด้านการตลาด พบว่า ปี 2560 ที่ผ่านมา มูลค่าธุรกิจ Online Food Delivery รวมกันทั่วโลกมูลค่ามากถึง 84,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2.6 ล้านล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 1.64 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 50.8 ล้านล้านบาทในปี 2567 หรือเติบโตเฉลี่ย 11.4% ต่อปี ประกอบกับผู้บริโภคปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่นิยมทำอาหารเอง ตามไลฟ์สไตล์ความเป็นเมืองที่นิยมความสะดวก ทำให้เทรนด์สั่งซื้ออาหารผ่านออนไลน์เติบโตอย่างก้าวกระโดด

จากสถิติดังกล่าว ทำให้ “เทรนด์ธุรกิจออนไลน์” กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ สำหรับผู้ประกอบการไม่ว่ายุคเก่าหรือยุคใหม่..เพียงแต่ว่าใครจะฉกฉวยจังหวะและโอกาสจากเทรนด์นี้ได้มากกว่ากันเท่านั้นเอง.!!!???

Back to top button