BGRIM บวก 4% โบรกฯคาดกำไรไตรมาส 3/62 โตแกร่ง 66% แตะ 686 ลบ.

BGRIM บวก 4% โบรกฯคาดกำไรไตรมาส 3/62 โตแกร่ง 66% แตะ 686 ลบ. โดย ณ เวลา 14.59 น. ราคาอยู่ที่ระดับ 50.75 บาท บวก 2 บาท หรือ 4.10% สูงสุดที่ระดับ 50.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 49 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 555.86 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ณ เวลา 14.59 น. อยู่ที่ระดับ 50.75 บาท บวก 2 บาท หรือ 4.10% สูงสุดที่ระดับ 50.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 49 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 555.86 ล้านบาท

ด้าน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินว่า BGRIM ในไตรมาส 3/62 จะมีกำไรจากธุรกิจหลักอยู่ที่ 686 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 413 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 23.10% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนประมาณ 557 ล้านบาท โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจะมาจากกำลังการผลิตใหม่ (SPP1, Solar Vietnam) และยอดขาย IU ที่เพิ่มขึ้นที่ ABPR3-5

ขณะที่กำไรที่ฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน จะมาจาก 1.อานิสงส์ของต้นทุนก๊าซที่ลดลง 2.20% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และ 2.การรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มไตรมาสของโครงการ Solar Vietnam (437 เมกะวัตต์ หรือ MW) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam Che (11 เมกะวัตต์) ซึ่งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 3/2562 จะอยู่ที่ 19.60% (จาก 18.50% ในไตรมาส 3/2561 และ 18.10% ในไตรมาส 2/2562) เนื่องจากราคาก๊าซเปลี่ยนแปลงไป (เพิ่มขึ้น 0.80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 2.2% จากไตรมาสก่อน)

ทั้งนี้ คาดว่าค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร (SG&A) จะอยู่ที่ 370 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 11.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 10.90% จากไตรมาสก่อน) เนื่องจากไม่มีต้นทุนในการกันสำรอง (49 ล้านบาท) และคาดว่าค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 732 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 2.20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, ลดลง 7.80% จากไตรมาสก่อน) แต่หากรวมรายการพิเศษด้วย คาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 3/2562 จะอยู่ที่ 736 ล้านบาท ลดลง 7.40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 795 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 17.60% จากไตรมาสก่อนประมาณ 626 ล้านบาท จะส่งผลให้ 9 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 2,097 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ประมาณ 1,733 ล้านบาท

ขณะที่ BGRIM มีแผนจะออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิแบบไม่มีกำหนดอายุ (subordinated perpetual debenture) มูลค่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยต่อทุนสุทธิลดลงจาก 1.7 เท่า เหลือ 1.4 เท่า ในปี 2562 ทั้งนี้ บริษัทยังมีโอกาสที่จะกู้เพิ่มได้อีก 50,000 ล้านบาท เมื่ออิงจากข้อกำหนดหุ้นกู้ที่ 3 เท่าของสัดส่วนหนี้ที่มีดอกเบี้ยต่อทุนสุทธิ (IBD/E) หรือเท่ากับ 2,360 เมกะวัตต์ อิงจาก 1.ต้นทุนการลงทุนที่ 30 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ 2.โครงสร้างการลงทุน (หนี้ : ทุน หรือ 70 : 30) ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 3,245 เมกะวัตต์

นอกจากนี้มีโอกาสการลงทุนในต่างประเทศอีกหลายโครงการในไตรมาส 4/2562-2563 เช่น 1.โครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งในประเทศเกาหลีใต้ (30-35 เมกะวัตต์) 2.โครงการพลังงานลมในประเทศเวียดนาม (50-200 เมกะวัตต์) 3.โครงการโรงไฟฟ้าพลังก๊าซในประเทศมาเลเซีย (200 เมกะวัตต์) และ 4.โครงการ solar ในประเทศฟิลิปปินส์ (50-100 เมกะวัตต์)

ทั้งนี้ โครงการพลังงานลมในประเทศเกาหลีใต้น่าจะเกิดในไตรมาส 4/2562 ในขณะที่โอกาสการลงทุนโครงการอื่น ๆ จะอยู่ในปี 2563 ซึ่งจะทำให้ราคาเป้าหมายมีอัพไซด์ประมาณ 0.5-1 บาทต่อหุ้น จากโครงการพลังงานทดแทน และประมาณ 2-3 บาทต่อหุ้นจากโครงการในประเทศมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม ปรับลดคำแนะนำหุ้น BGRIM จาก “ซื้อ” เป็น “ถือ” เนื่องจากเหลืออัพไซด์จำกัดและราคาเป้าหมายปี 2563 ที่ 48 บาท/หุ้น แต่เมื่อมองไปข้างหน้าคาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 4/2562 น่าจะดีขึ้นทั้งจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อน เนื่องจาก 1.ต้นทุนค่าก๊าซของโรงไฟฟ้า SPP จะลดลง และ 2.ยอดขายไฟฟ้าให้กฟผ.จะเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยยอดขายที่หายไปในไตรมาส 2/2562 เนื่องจากกฟผ. มีการปิดซ่อมบำรุงสายส่งตามแผน

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส BGRIM กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) โครงการ DAU TIENG 1 และ DAU TIENG 2 (DT1& DT2) ขนาดกำลังการผลิตรวม 420 เมกะวัตต์ จะสร้างรายได้ประมาณ 1,800-1,900 ล้านบาทต่อปี หากรวมโครงการ Phu Yen TTP ขนาดกำลังการผลิต 257 เมกะวัตต์ก็จะมีกำลังการผลิตรวม 677 เมกะวัตต์ จะสร้างรายได้ประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี สำหรับปี 2562 บริษัทยังคงเป้าหมายมีรายได้เติบโต 15-20% จากปีก่อน โดยในช่วงไตรมาส 4/2562 จะมีการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) โรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 5 เมกะวัตต์ ก็จะทำให้สิ้นปีมีกำลังการผลิตรวม 2,896 เมกะวัตต์

Back to top button