โอกาสและความเสี่ยง

นโยบายสาธารณะมีความสำคัญต่อสังคมและประเทศชาติ ไม่ใช่คำถามสำคัญสำหรับนักลงทุนเท่ากับว่า มันสามารถกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจได้อย่างไรกัน เหมือนการติดกระดุมผิดเม็ด


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

นโยบายสาธารณะมีความสำคัญต่อสังคมและประเทศชาติ ไม่ใช่คำถามสำคัญสำหรับนักลงทุนเท่ากับว่า มันสามารถกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจได้อย่างไรกัน เหมือนการติดกระดุมผิดเม็ด

โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงนโยบายสาธารณะ ที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศ โดยรัฐบาลต้องออกนโยบายและนำไปปฏิบัติเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา หรือ ทำให้ประชาชนที่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ส่วนประชาชนเมื่อ เห็นว่านโยบายของรัฐบาลมีประโยชน์และตอบสนองต่อความต้องการในการดำเนินชีวิต ก็จะให้การสนับสนุนรัฐบาลมากขึ้นหรืออาจะกล่าวได้ว่า นโยบายสาธารณะเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยผลประโยชน์และแสดง ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ต่อทั้งประชาชนและรัฐบาล

ประเด็นคือธุรกิจที่เล่นเกมหาประโยชน์ควบไปกับนโยบายสาธารณะ มักจะมองเห็นเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค หรือปัจจัยเสี่ยง ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง มีด้านมืดควบคู่ด้วยเสมอ

กรณีหุ้น TRC ต่ำติดพื้นไม่มีท่าทีฟื้นตัว เพราะโครงการเหมืองโปแตชที่ชัยภูมิถูกแขวนขึ้นหิ้ง หรือกรณี SCI ที่เลวร้ายพอ ๆ กันเพราะโครงการเดินสายไฟฟ้าแรงสูงในสปป.ลาวไม่คืบหน้า เป็นกรณีศึกษาด้านลบของการทำธุรกิจ ที่ล้อไปกับนโยบายสาธารณะ

ส่วนด้านบวกอย่าง GULF หรือ BEM หรือ BTS ไม่ต้องพูดอะไรมาก เพราะเป็นโอกาสแน่นอนที่ยั่งยืนมาก

กรณีศึกษาที่มีทั้งด้านสว่างและมืด น่าจะทำให้นักลงทุนได้ตัดสินใจเองมากกว่าแค่ฟังนักวิเคราะห์อย่างเดียว แต่ก็ยังมีบทเรียนเพิ่มเติมเข้ามาเรื่อย ๆ ว่าธุรกิจที่ติดกับดักนโยบายสาธารณะนั้น ยังมีปริมาณเพิ่มขึ้น

ในทางทฤษฎีแล้ว นโยบายสาธารณะถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่ต้องนำมาคำนวณน้ำหนักในการลงทุนเสมอ แม้จะบอกได้ยากว่าระดับของความเสี่ยงนั้นมากน้อยแค่ไหน

ในหนังสือชื่อ Political Risk (2018) ผู้เขียนคือ Condoleezza Rice อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และ Amy B. Zegart มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า ความเสี่ยงทางการเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ความเสี่ยงไม่ได้เกิดจากนโยบายรัฐบาล หรือจากกฎหมายที่ออกมาควบคุมธุรกิจอย่างเดียว แต่เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรต่าง ๆ หรือแม้แต่พลเมืองที่มีบัญชี Facebook หรือ Twitter ก็สามารถสร้างความเสี่ยงต่อองค์กรธุรกิจทั้งหลาย

ทุกวันนี้ แม้แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างแดนที่อยู่ห่างไกลออกไป ก็สามารถส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วต่อประเทศต่าง ๆ และธุรกิจทั่วโลก สงครามกลางเมืองในซีเรียทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพจำนวนมากและการก่อการร้ายในยุโรป ส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของฝรั่งเศสซบเซา ภาพผู้โดยสารของสายการบิน United ที่ถูกลากตัวลงจากเครื่องบินที่สนามบินชิคาโกถูกนำไปเผยแพร่อย่างรวดเร็วทั่วเมืองจีนเพราะผู้โดยสารเป็นคนเอเชีย

ความเสี่ยงทางการเมืองในปัจจุบันจึงแตกต่างจากอดีต ในศตวรรษที่ 21 ความเสี่ยงไม่ได้มาจากการดำเนินการของรัฐเท่านั้น แต่กิจกรรมและการเคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ ก็อาจจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจ ธุรกิจที่ต้องการจะรักษาความได้เปรียบ จำเป็นต้องมีวิธีการบริหารจัดการกับความเสี่ยง ที่เกิดจากบุคคลและองค์กรที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดี ไปจนถึงองค์กรอย่างสหภาพยุโรป

หนังสือ Political Risk กล่าวว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สภาพภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การเปิดประเทศของจีน ที่มีพลเมือง 1.4 พันล้านคน ส่งผลกระทบมากที่สุด รวมทั้งการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ตลาดเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว แบบไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน ในแต่ละปี กลุ่มประเทศ BRICs เช่น บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน เติบโตมากกว่า 8% และจีนอาจเป็นประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่โตที่สุดในปี 2019

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการแปรเปลี่ยนนโยบายที่ถือเป็นตัวแปรกำหนดชะตากรรมของธุรกิจนี้ มักจะเกิดได้ง่ายในประเทศที่เคยถูกเรียกว่า “โลกที่ 3” ก็เต็มไปด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจ คนชั้นกลางและนักธุรกิจในประเทศเหล่านี้ต่างก็มีความเชื่อมโยงกับโลกภายนอก เพราะคนที่กุมนโยบายสาธารณะนั้น บางครั้งทำตัวเป็นผู้เล่นสำคัญเสียเอง

โลกในยุคปัจจุบัน การเมืองกับเศรษฐกิจมีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เมื่อธุรกิจคิดในเรื่องความเสี่ยง มักจะมองกรณีที่ผู้นำเผด็จการยึดทรัพย์สินต่างชาติ ความเสี่ยงนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 1950-1970 แต่ทุกวันนี้ เหตุการณ์แบบนี้แทบจะหายไปหมดแล้ว เพราะความเข้มแข็งของกฎหมายระหว่างประเทศ และการบูรณาการระหว่างเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็ยังเปิดช่องโหว่ให้เล่นกัน

หนังสือ Political Risk กล่าวว่า ในศตวรรษที่ 21 กลุ่มคนที่จะมีบทบาทสร้างความเสี่ยงทางการเมืองต่อธุรกิจ มีหลายประเภท เช่น

(1) บุคคลเป็นราย ๆ ที่เป็นนักเล่น Facebook คนทำภาพยนตร์สารคดี หรือนักเคลื่อนไหว

(2) องค์กรท้องถิ่น เช่น พรรคการเมือง สมาคมต่าง ๆ และหน่วยงานท้องถิ่น

(3) ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ

(4) กลุ่มหรือขบวนการข้ามชาติ เช่น นักเคลื่อนไหว ผู้ก่อการร้าย พวกแฮกเกอร์ พวกอาชญากร และ

(5) องค์กรสถาบันข้ามชาติ เช่น สหภาพยุโรป หรือสหประชาชาติ

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่นักลงทุนที่ถือหุ้นบางรายการต้อง ทำใจ และ รู้ทัน พร้อมกับ “หาทางออก” กันตามอัตภาพ

คนที่ติดหุ้น UPA ต้องทำใจว่าโครงการผลิตไฟฟ้าที่ทวายคือหายนะ

คนที่ติดหุ้น ECF ต้องอดทนต่อไปกับโครงการไฟฟ้าที่มินบูว่าจะยังไม่มีการรับรู้รายได้เชิงพาณิชย์อีกยาวนาน คนที่ติดหุ้นอย่าง CWT ต้องรับสภาพว่าโครงการผลิตมินิบัสร่วมกับฮีโน่ จะไม่มีความชัดเจนในอนาคตเรื่องเอามินิบัสมาแทนรถตู้อีกยาวนาน ซึ่งส่งผลต่อรายได้และกำไร

ทำใจ รู้ทัน แล้วหาทางออกตามอัธยาศัยด้วย

Back to top button