พาราสาวะถี

วันนี้ ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญครั้งที่ 2/2562 นัดแรก มีวาระร้อน 2 เรื่องที่จะเข้าสู่การพิจารณาเป็นญัตติด่วน เรื่องแรกคือ ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 ซึ่ง ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่กับคณะเป็นผู้เสนอ ตรงนี้ต้องจับตาในความเข้มข้นของการอภิปรายจากซีกฝ่ายค้าน


อรชุน

วันนี้ ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญครั้งที่ 2/2562 นัดแรก มีวาระร้อน 2 เรื่องที่จะเข้าสู่การพิจารณาเป็นญัตติด่วน เรื่องแรกคือ ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 ซึ่ง ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่กับคณะเป็นผู้เสนอ ตรงนี้ต้องจับตาในความเข้มข้นของการอภิปรายจากซีกฝ่ายค้าน

ขณะที่ฝั่งรัฐบาลอันหมายถึงพรรคพลังประชารัฐ คงจะมีบรรดาองครักษ์พิทักษ์ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ คอยเบรกคอยค้านอยู่เป็นระยะ เพราะแม้จะผ่านการเลือกตั้งมีรัฐบาลที่อ้างกันว่ามาจากประชาชน เป็นไปตามกลไกของระบอบประชาธิปไตยแล้ว แต่คนของพรรคสืบทอดอำนาจจำนวนไม่น้อย ยังมองเห็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แตะต้องไม่ได้ ต้องคอยปกป้องกันพัลวัน เสียจริตความเป็นผู้แทนของประชาชนมากกว่าสภาลากตั้งเสียอีก

ส่วนอีกญัตติด่วนอีกเรื่องคือการเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ซึ่งจะว่าไปแล้วมีอยู่หลายญัตติที่เสนอกันต่างกรรมต่างวาระ แต่ถูกจับมามัดรวมพิจารณาในคราวเดียวกัน ลองไปจำแนกแยกแยะดูว่าญัตติของแต่ละพรรคแต่ละฝ่ายนั้นใครเสนอกันอย่างไรและเมื่อไหร่บ้าง

ญัตติแรกเป็นของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เสนอไปเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ซึ่งมีเพียงญัตติเดียว เสนอโดย สุทิน คลังแสง และปิยบุตร แสงกนกกุล มีเนื้อหาสำคัญคือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้นมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีปัญหาในเรื่องความเป็นประชาธิปไตย ความเหมาะสมของยุทธศาสตร์ชาติ และความชอบด้วยหลักนิติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการดำเนินคดีกับผู้แสดงความคิดเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

ขณะเดียวกันเหตุผลประกอบที่ฝ่ายค้านหยิบยกมาต่อการยื่นญัตตินี้อีกส่วนหนึ่งก็คือ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเลือกตั้งและการนับคะแนน การทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และการทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ มิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเศรษฐกิจ

ส่วนอีก 3 ญัตตินั้นเป็นของพรรครัฐบาลล้วน ๆ ที่มาเร่งเสนอเอาในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนที่จะปิดสมัยประชุมที่ผ่านมา โดยญัตติของพรรคประชาธิปัตย์ เสนอเมื่อวันที่ 5 กันยายน มี เทพไท เสนพงศ์ เป็นผู้เสนอ สาระสำคัญของการยื่นญัตติคือ รัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาในทางปฏิบัติหลายมาตรา และมีหลายประเด็นที่จำต้องแก้ไขให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยสากล

ญัตติของพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอเมื่อวันที่ 10 กันยายน โดย นิกร จำนง เป็นผู้เสนอ ให้เหตุผลถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีปัญหาในเรื่องความเป็นประชาธิปไตย และความเหมาะสมของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งขาดการยอมรับจากประชาชนอยู่ไม่น้อย แม้ว่าจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติมาแล้วตาม นอกจากนั้น ยังมีหลายเรื่องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญพบว่าเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ

ส่วนญัตติสุดท้ายเป็นของพรรคพลังประชารัฐ เสนอโดย วิเชียร ชวลิต เมื่อวันที่ 11 กันยายน ทั้งนี้ พรรคสืบทอดอำนาจ อ้างถึงปัญหาสำคัญคือผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้เวลาในรอประกาศผลอย่างเป็นทางการค่อนข้างนาน และการคำนวณส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่ยังเป็นประเด็นซึ่งมีความเห็นแตกต่างกันออกไปหลายทาง โดยญัตติของพรรคสืบทอดอำนาจนั้น ยังพ่วงท้ายประเด็นว่าด้วยการทำประชามติก่อนการแก้ไขไว้ด้วย

โดยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านนั้น บดินทร์ สายแสง จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขมวดปมของการขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างจริงจังของทั้งสองฝั่งว่า นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้มีการแถลงต่อรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในข้อ 12 ที่จะสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ในความเห็นของพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้ว ความเร่งด่วนของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็เพื่อบรรเทาหรือป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิทธิเสรีภาพ สวัสดิภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชน ขณะที่ในความเห็นของพรรคพลังประชารัฐ ความเร่งด่วนของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจหรือทางอื่นใดก็ตาม รวมทั้งเป็นการขจัดเหตุอันอาจกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของประชาชน

ไม่ว่าจะหยิบยกเอาประเด็นไหนมาเป็นตัวชูโรงสำหรับแต่ละพรรคแต่ละฝ่าย ความเห็นร่วมของสังคมโดยที่ยังไม่ต้องทำประชามติใด ๆ เชื่อได้เลยว่า สมควรที่จะต้องมีการแก้ไข ส่วนจะแก้ไขกันอย่างไรนั้น อยู่ที่กระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรหลังจากนี้ เมื่อมีการตั้งคณะกรรมาธิการกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว คำถามที่สำคัญคือ ระหว่างการพิจารณานั้นจะเกิดเกมการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างอ้างเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคสืบทอดอำนาจ

ต้องไม่ลืมว่า การที่เป็นพรรคแพ้เลือกตั้งแต่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น ก็เพราะผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมี 250 เสียงของส.ว.ลากตั้งเป็นจุดชี้วัดสำคัญ โดยไม่ได้คำนึงถึงเสถียรภาพของรัฐบาลหลังจากนั้น มันจึงเกิดปรากฏการณ์ “ป้อนกล้วยให้ลิง” กับ “งูเห่าชั่วคราว” ซึ่งเป็นตัวสะท้อนความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของการปฏิรูปที่ฝ่ายสืบทอดอำนาจอ้างอยู่เป็นประจำ

Back to top button