10 เดือนหุ้น SET50 ตัวไหนปัง-ตัวไหนดับ! แนะเคาะ 8 หุ้น Big Cap “แบงก์-พลังงาน” ราคาลงลึก

10 เดือนหุ้น SET50 ตัวไหนปัง-ตัวไหนดับ! แนะเคาะ 8 หุ้น Big Cap “แบงก์-พลังงาน” ราคาลงลึก


ทิศทางการลงทุนในช่วง  10 เดือนแรกปี 2562 จะพบว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยได้อ่อนต่อเนื่องและได้อ่อนตัวหลุดแนวรับสำคัญหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนดัชนีได้ปรับตัวหลุดระดับ 1700 จุด เนื่องจากนักลงทุนกังวลปัจจัยสงครามการค้า,การประท้วงในฮ่องกงทำให้  Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาค

นอกจากนี้ในเดือนตุลาคม 2562 ดัชนีได้ปรับตัวลดลงแรงและหลุดแนวรับสำคัญ 1600 จุด เนื่องจากมีการประกาศงบการเงินกลุ่มธนาคารและมีแรงเทหุ้นในกลุ่มแบงก์ เนื่องจาก KBANK ได้ประกาศเป้าหมายทางการเงินปีหน้าออกมาแล้วดูไม่ดี ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่าแบงก์อื่นจะประกาศเป้าหมายทางการเงินปีหน้าไม่ดีเช่นเดียวกัน จึงทำทำให้มีแรงขายหุ้นกลุ่มแบงก์ออกมาฉุดดัชนีฯราว 6-7 จุด เมื่อวันที่ 24 ต.ค.62

ขณะเดียวกันตลาดได้รับปัจจัยลบกรณีที่สหรัฐฯระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) สินค้าไทยบางรายการ กำหนดให้มีผลบังคับใช้วันที่ 25 เม.ย.63 ฉุดให้มีแรงขายนำหุ้นกลุ่มส่งออกออกมาอีกทาง

อย่างไรก็ตามทิศทางการลงทุนล่าสุดดัชนีกลับขึ้นมายืนเหนือระดับ 1600 จุด ได้อีกครั้ง เนื่องจากภาวะการลงทุนต่างประเทศได้แรงหนุนจากการเจรจาการค้าสหรัฐ – จีน เฟสแรก คาดจะสามารถตกลงกันได้ใน พ.ย. นี้  จึงคาดว่านักลงทุนจะเข้ามาซื้อซื้อสะสมหุ้นกลุ่ม Big Cap ที่ปรับฐานลงมาแรง

ดังนั้นทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรวจกลุ่มหุ้น SET50 ในช่วง 10 เดือนมานำเสนอ โดยครั้งนี้จัดเรียงลำดับหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงไปน้อยสุดเพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุดังตารางประกอบ

สำหรับในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาพบว่าหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงอันดับ 1 คือ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG โดยราคาหุ้นในช่วง 10 เดือนปรับตัวขึ้นถึง 173.98%  จากยืนที่ระดับ 30.75 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 84.25 บาท ณ วันที่ 31 ต.ค.62 โดยได้รับแรงหนุนจากแผนธุรกิจเด่นและผลประกอบการสดใสอีกทั้งคาด่าปีนี้จะเป็นปีทองของ CBG

บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า CBG แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 102 บาท/หุ้น โดยมองผลประกอบการดีต่อเนื่อง และคาดว่า CBG จะประกาศกำไรสุทธิ ที่ 616 ล้านบาท ในไตรมาส 3/62 โต141% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 11.5% เทียบไตรมาสก่อนหน้า และกำไรในไตรมาส4/62 คาดว่าจะดียิ่งขึ้นอีก จากช่วง high season และมาร์จิ้นที่เพิ่มขึ้น

ด้านหุ้นที่ปรับตัวลดลง 22 ตัว คือ PTT,LH,BDMS,EA,TRUE,BJC,TU,KTB,BBL,CPN,SCC,SCB,BANPU,BPP,GLOBAL, KBANK,PTTGC,TMB,BH,DELTA,IRPC และ IVL ซึ่งในกลุ่มนี้ถือเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะได้เข้าเก็บหุ้นพื้นฐานดีราคาถูก นอกจากนี้ยังพบว่ามีหุ้นบางตัวราคาต่ำกว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชี และ P/E ต่ำกว่าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 18.83 เท่า ณ วันที่ 5 ต.ค.62

โดยกลุ่มหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชีมี 8 ตัว ได้แก่ TCAP,KTB,PTTGC,KBANK,BBL,TMB,SCB ส่วนกลุ่มหุ้น P/E ต่ำกว่าตลาดฯมี 18 ตัว คือ TCAP,KTB,IVL,PTTGC,KBANK,BBL, TMB,SCB,PTTEP,TISCO,SCC, BANPU,PTT,BPP,LH,CPF,DELTA,EGCO,RATCH

บล.คิงส์ฟอร์ด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ภาวการณ์ลงทุนต่างประเทศได้แรงหนุนจากการเจรจาการค้าสหรัฐ – จีน เฟสแรก คาดจะสามารถตกลงกันได้ใน พ.ย. นี้  โดยจีนพยายามต่อรองให้สหรัฐยกเลิกการเก็บภาษีนำสินค้าจีนมูล 1.25 แสน ล.ดอลลาร์ ที่อัตรา 15 % ที่เรียกเก็บใน ก.ย. ที่ผ่านมา และการจะเรียกเก็บภาษีมูลค่า 1.6 แสน ล.ดอลลาร์ ในวันที่ 15 ธ.ค. นี้  ที่มีหมวดสินค้าสมาร์โฟน , แลปท็อป ซึ่งแลกกับจีนจะซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐ , รักษาเสถียรภาพค่าเงินหยวน , เปิดตลาดภาคการเงิน รวมถึงการป้องกันการละเมิดสินทรัพย์ทางปัญญา

ซึ่งแนวโน้มการเจรจาอยู่ในทิศทางบวก ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับเพิ่มขึ้น , อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับขึ้นสู่ระดับ 1.84 % ราคาทองคำปรับลดลง ประกอบกับสหรัฐอาจจะชะลอการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากยุโรป ส่งผลให้แรงกดดันด้านลบต่อสงครามการค้าลดลง  ดัชนีหุ้นไทยวานนี้ปิด +0.28 % สถาบันเป็นผู้ซื้อหลัก 5 วันทำการที่ผ่านมาซื้อสุทธิ 1.7 หมื่น ลบ. คาดเป็นซื้อสะสมหุ้นกลุ่ม Big Cap. ที่ปรับฐานลงมา

ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button