พาราสาวะถี

เป็นอันว่าไม่ต้องเถียงกันแล้วสำหรับพวกที่จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าใครมีส่วนได้ส่วนเสียต้องไม่เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ เพราะ วิษณุ เครืองาม มีคำตอบให้ชัดเสียยิ่งกว่าชัด เมื่อเจ้าตัวย้อนถามนักข่าวถึงประเด็นที่หลายพรรคการเมืองอยากจะแก้อำนาจส.ว. ถ้าส.ว.เข้ามาเป็นกรรมาธิการจะถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ว่า แล้วส.ส.มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ ตรงไปตรงมาดีแท้


อรชุน

เป็นอันว่าไม่ต้องเถียงกันแล้วสำหรับพวกที่จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าใครมีส่วนได้ส่วนเสียต้องไม่เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ เพราะ วิษณุ เครืองาม มีคำตอบให้ชัดเสียยิ่งกว่าชัด เมื่อเจ้าตัวย้อนถามนักข่าวถึงประเด็นที่หลายพรรคการเมืองอยากจะแก้อำนาจส.ว. ถ้าส.ว.เข้ามาเป็นกรรมาธิการจะถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ว่า แล้วส.ส.มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ ตรงไปตรงมาดีแท้

ก่อนจะตามมาด้วยประโยคตบท้ายว่า มันก็มีด้วยกันทั้งประเทศ รัฐธรรมนูญเป็นของประเทศ จึงไม่เกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสีย เพราะมีด้วยกันทั้งหมด หากไม่อยากให้ใครมีส่วนได้ส่วนเสีย กรรมาธิการต้องเป็นกลางไม่สังกัดพรรคการเมืองไหน แต่นี่อุตส่าห์มาแบ่งโควตากันจึงไม่ต้องมาพูดเรื่องส่วนได้ส่วนเสีย ดอกนี้ก็น่าจะช่วยปิดปากพวกที่เที่ยวตีกันคนนั้นคนนี้ ฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ เป็นอันว่าเนติบริกรขาใหญ่ในรัฐบาลเขาบอกมาแล้ว ถ้าจะแก้กันก็อย่ามาดัดจริต มีอะไรไปคุยกันในคณะกรรมาธิการ

ถ้าเช่นนั้น รายชื่อของส.ว.ลากตั้งที่วิษณุยอมรับว่าไม่ได้มีการหารือกันอย่างเป็นทางการ แค่คุยกันในวงกินข้าว ก็คงไม่หนีไปจากที่ปรากฏเป็นข่าว ส่วนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่จะแก้กันโดยระบุว่ามีข้อบกพร่องหลายประการนั้น เสรี สุวรรณภานนท์ อดีตส.ส.ร.ผู้หันหลังให้กับที่มาจากประชาชน การันตีเองว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มีเนื้อหาตรงไหนที่ขาดตกบกพร่อง แต่เป็นความเจตนาของผู้ร่างเองที่ต้องการให้ทุกอย่างมันเป็นอย่างนั้น

ความจริงไม่ต้องบอกคนเขาก็รู้กันไปทั่ว เจตนามันชัดตั้งแต่ล้มคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เสียเวลา เสียงบประมาณกันไปบานเบอะด้วยเหตุผล เขาอยากอยู่ยาว” ส่วนปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกที่หลายเรื่องดูเหมือนว่าเป็นความจงใจที่จะทำให้เป็นเช่นนั้น แล้วนำไปสู่การตีความกันเอาเอง เหมือนเป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบเลือกที่จะบอกอะไรก็ได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือให้ผู้ที่จะวินิจฉัยทำตามความต้องการของผู้ถามนั่นเอง โดยมีข้อแม้ว่าให้ดูหน้าด้วยว่าฝ่ายถามนั้นเป็นใคร

ไม่ได้เกินเลยไปจากข้อเท็จจริง กับสิ่งที่ปรากฏตลอดระยะเวลาแห่งความขัดแย้งนานกว่า 10 ปีที่ผ่านมา กระบวนการที่ได้เห็นและเป็นไป มันพิสูจน์ได้ว่า หลักการเป็นเหมือนสิ่งเลื่อนลอย เพราะมันสามารถคล้อยตามเหตุผลที่ยกมาอ้างเวลาที่จะชี้ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดว่าเป็นอย่างไร แม้แต่เรื่องเดียวกันยังมีความเห็นเป็นสองด้าน โดยอ้างว่าต่างกรรมต่างวาระ เมื่อมาตรฐานมันไม่ดี สิ่งที่ทำกันมาของขบวนการสืบทอดอำนาจ จึงเป็นการตอบสนองของผู้ที่ต้องการจะอยู่ในอำนาจเท่านั้น คนอื่น ฝ่ายอื่นอย่าได้เสือก

จบสิ้นเรื่องปัญหาการมีส่วนได้เสีย ก็ต้องจับจ้องมองไปยังเก้าอี้ประธานกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ฟัง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ล่าสุด ยืนยัน ต้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคเก่าแก่เท่านั้น ส่วนประเด็นความขัดแย้งกับพรรคแกนนำรัฐบาล ค่อยไปว่ากันในส่วนของวิป ทุกอย่างสามารถหารือ ตกลงร่วมกันได้ ถ้าจะให้ทายสุดท้ายอภิสิทธิ์อาจรับประทานแห้ว แล้วหวยก็ไปออกที่คนกลางซึ่งไม่ใช่คนของทั้งพรรคเก่าแก่และพรรคสืบทอดอำนาจ

จับท่าทีของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แกนนำหลักผู้ออกหน้าของพรรคสืบทอดอำนาจกับคำพูดที่ว่า ไม่จำเป็นต้องคนในหรือคนนอก ไม่จำเป็นต้องมีบารมีขอให้มีความรู้ ความสามารถก็พอ เท่านี้ก็น่าจะคาดเดาได้ว่า เพื่อผ่าทางตันไม่ต้องขัดแย้งกันทั้งสองฝ่าย ยกเก้าอี้ให้ตาอยู่ไปเสียก็สิ้นเรื่อง เพราะคณะกรรมาธิการชุดนี้ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าแค่ศึกษาและหาวิธีแก้รัฐธรรมนูญ ยังไม่เข้าสู่โหมดการรื้อจึงไม่จำเป็นต้องห้ำหั่นกันเอาเป็นเอาตาย

แต่นักการเมืองบางส่วนก็มองว่าไปคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะกระบวนการศึกษาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขนี่แหละสำคัญ หากตั้งต้นรื้อสิ่งที่ทำให้แก้ไขยากไม่ได้ โอกาสที่จะเห็นปลายทางคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ถ้ายึดปัจจัยนี้เป็นสำคัญ ต้องย้ำกันอีกกระทอกว่า เช่นนั้นต้องไปบอกให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ประกาศออกมาเปรี้ยงเดียวว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะได้ให้ส.ว.ลากตั้งกระโดดเสนอตัวมาช่วยกันแก้ไขกันหน้าสลอน

อย่างที่รู้กันปัญหาใหญ่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พุ่งเป้าไปยังมาตรา 256 นั้นก็เพื่อโละความยุ่งยากอันมาจากพวกลากตั้งที่จะต้องใช้เสียงมาเปิดทาง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็บอกกันมาโดยตลอด แกนหลักของการที่จะแก้ไขให้สำเร็จไม่ได้อยู่ที่นักการเมือง พรรคการเมืองทุกพรรคต้องจับมือกัน หรือภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวกดดันอย่างหนัก ทุกอย่างมันอยู่ที่ขบวนการสืบทอดอำนาจ พร้อมที่จะคายในส่วนที่ไม่กระทบกับอำนาจสืบทอดของตัวเองหรือไม่

ฟากพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยก็แพลมรายชื่อกรรมาธิการออกมากันบางส่วน ก็ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย มือกฎหมายสำคัญของพรรคที่อาวุโสทางการเมืองได้ ก็หนีไม่พ้น โภคิน พลกุล พงศ์เทพ เทพกาญจนา ชัยเกษม นิติสิริ รวมถึง วัฒนา เมืองสุข ส่วนอนาคตใหม่หัวเรือใหญ่ย่อมหนีไม่พ้น ปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งหากจะดูความเข้มข้นในการขับเคี่ยว หักล้างกันด้วยข้อกฎหมายในคณะกรรมาธิการ ก็ต้องหวังจากตัวแทนของพรรคอนาคตใหม่นี่แหละ

ต้องอย่าลืมว่าพวกนักการเมืองรุ่นเก๋าลายครามเป็นพวกประเภทอยู่เป็น โอกาสที่จะได้เห็นการหักด้ามพร้าด้วยเข่ามันจึงยาก แต่ประเภทอยู่ไม่เป็นได้แสดงตัวให้เห็นชัดเจนแล้วว่า พร้อมที่จะขวางในทุกเรื่องที่เห็นว่ามันขัดกับหลักการของข้อกฎหมายที่ถูกต้อง พอมองแนวทางอย่างนี้สิ่งที่สังคมต้องจับตาน่าจะเป็นเรื่องเอกภาพในพรรคร่วมฝ่ายค้านมากกว่าว่า เห็นสิ่งที่จะทำเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลไม่ต้องพูดถึงที่เห็นขัดแย้งมันก็แค่ภาพลวงตาเท่านั้น

เป็นอันว่าต้องเจอโรคเลื่อนไปอีกหนึ่งสัปดาห์สำหรับญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ เมื่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ยืนยัน สัปดาห์นี้มีวาระอื่นที่จะต้องพิจารณาจำนวนมากคาดว่า 2 วันประชุมของสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่จบ ไม่ได้เหนือความคาดหมายที่ค้างเติ่งอีกเรื่องคือการถกปมคำสั่งคสช.และคำสั่งตามมาตรา 44 ไม่ว่าช้าหรือเร็วก็ต้องพิจารณากันอยู่ดี ฝ่ายค้านคงตีขิมรอเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น เพราะยิ่งไปเร่งไปรีบเดี๋ยวสังคมจะกล่าวหาว่าอยากแก้จนตัวสั่น ท่านผู้นำดักคอแล้ว “ตอบให้ได้ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อใคร”

Back to top button