BEM-BTS ความเหมือนที่ต่าง

ช่วงเวลานี้มีเรื่อง “ค้างท่อ” ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ของเจ้าสัว “คีรี กาญจนพาสน์” และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ของเจ้าสัว “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” นั่นคือเรื่อง “ต่ออายุสัมปทาน” ที่ยังเคว้งคว้างหาทางจบไม่ได้ซะที


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

ช่วงเวลานี้มีเรื่อง “ค้างท่อ” ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ของเจ้าสัว “คีรี กาญจนพาสน์” และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ของเจ้าสัว “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” นั่นคือเรื่อง “ต่ออายุสัมปทาน” ที่ยังเคว้งคว้างหาทางจบไม่ได้ซะที

เริ่มจาก BEM เป็นกรณี “ต่ออายุสัมปทานทางด่วน 30 ปี” แลกยุติข้อพิพาททั้งหมดที่มีกับการทางพิเศษแห่งประ เทศไทย (กทพ.) ทุกคดี..คิดเป็นมูลค่าประมาณแสนล้านบาท หลังจากบอร์ดกทพ.และกรรมการที่เกี่ยวข้อง ไฟเขียวเรื่องนี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่เรื่องนี้ไปกองอยู่ที่บนโต๊ะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ชื่อ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” สังกัดพรรคภูมิใจไทย และภายใต้การกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล” แต่เวลาล่วงเลยผ่านมา..ไม่มีท่าทีจากอะไรออกมาจากรัฐมนตรีศักดิ์สยาม..อีกเลย

 “จะไม่เห็นด้วยหรือขั้นตอนตกหล่นหรือติดขัดตรงไหน..ไร้คำตอบกันต่อไป”

มาถึงกรณี BTS ว่าด้วยเรื่อง “ต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี” เพื่อแลกกับหนี้แสนล้านบาท จากกรุง เทพมหานคร ที่รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และเงื่อนไขค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 65 บาท

เรื่องนี้คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 44 มีข้อสรุปร่วมกัน..นั่นคือต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปอีก 30 ปี จากเดิมหมดอายุสัมปทานปี 2572 โดย BTS ยินยอมรับภาระหนี้แสนล้านบาทแทนกทม.และจัดเก็บค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 65 บาท

บทสรุปเรื่องนี้ได้นำไปสู่มือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นั่นคือ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” (จากโควตาพรรคพลังประชารัฐ) ในฐานะกำกับดูแลกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เปิดไฟเขียวอนุมัติ พร้อมส่งต่อไปที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ซึ่งก็ได้มีมติรับหลักการไปแล้ว

ผ่านมาแรมเดือน เรื่องนี้ยังไม่ได้บรรจุเป็นวาระเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซะที จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีใครใครพยายามดึงเรื่องนี้อยู่หรือไม่..!?

สองเรื่องนี้..สิ่งที่เหมือนกันคือเรื่อง “ต่ออายุสัมปทาน” แต่มันต่างกันที่อยู่คนละกระทรวง ที่สำคัญคนละพรรคการเมือง กล่าวคือ BEM อยู่ในมือพรรคภูมิใจไทย ส่วน BTS อยู่ในมือพรรคพลังประชารัฐ

จึงน่าตั้งเป็นโจทย์ให้ขบคิดกันต่อว่าความล่าช้าของ 2 เรื่องนี้ มันเกี่ยวข้องโยงใยไปถึงการประลองขุมอำนาจของ 2 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลหรือไม่..เพราะทั้ง 2 เรื่อง ผ่านกระบวนการต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 กระทรวงหมดแล้ว มันจึงคิดเป็นอื่น..ได้ยากจริง ๆ

Back to top button