มายาของกำไรพิเศษ

มีกรณีศึกษาน่าสนใจจากงบไตรมาสสามที่ผ่านมา จาก 3 บริษัทจดทะเบียน


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

มีกรณีศึกษาน่าสนใจจากงบไตรมาสสามที่ผ่านมา จาก 3 บริษัทจดทะเบียน

บริษัทแรก  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กำไรสุทธิเติบโตมากมายจากปีก่อนเพราะกำไรพิเศษ โดยมีกำไรเพิ่ม 40.8% จากงวดปีก่อน รับกำไรพิเศษ SCBLIFE หนุน แม้ตั้งสำรองฯ สูง 1.5 หมื่นลบ. (NPL พุ่ง)

ผลลัพธ์ คือ ราคาหุ้นต่ำกว่าบุ๊กแวลู แม้จะมีปันผลพิเศษมาเสริมส่ง เพราะนักลงทุนกลัวเรื่อง NPL ที่พุ่งขึ้นเนื่องจากปิดไม่มิด

บริษัทต่อไปคือ บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC ทำกำไรสุทธิ 3,030.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นน่าตื่นใจจากระยะเดียวกันปีก่อนแค่ 6 ล้านบาทเศษ แต่ส่วนใหญ่มาจากกำไรพิเศษจากการขายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิรค์ จำกัด (“TPN”) ที่ถือโดยบริษัท บิ๊กแก๊ส เทคโนโลยี จำกัด (BIGGAS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ PSTC ให้กับบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43 ของทุนจดทะเบียนคิดเป็นมูลค่า 2,901.50 ล้านบาท แล้วเพิ่มทุน BIGGAS จนทำให้มีกำไรจากการขายเงินลงทุนติดมาเสริมกำไรปกติจากการดำเนินงาน

ผลของกำไรสุทธิแม้ส่วนใหญ่จะมาจากกำไรพิเศษ ทำให้ราคาหุ้น PSTC วิ่งยาวไปยืนเหนือ 0.80 บาท ระยะหนึ่งก่อนโรยตัวกลับมาที่เดิม เพราะบริษัทนี้ นักลงทุนเข้าใจดีว่ายังแต่งตัวสร้างสินทรัพย์ไม่แล้วเสร็จ อาจจะมีความผันผวนด้านราคาง่าย ๆ

บริษัทสุดท้าย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มีกำไรสุทธิ 937 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 70% เนื่องจากไตรมาสสามปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3,119 ล้านบาท

ไตรมาสสามปีก่อน BEM บันทึกกำไรพิเศษ จากการขายเงินลงทุนและโอนเปลี่ยนประเภทเงินลงทุนในบริษัทกลุ่มเดียวกัน ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ทำให้กำไรโป่งพอง แต่หากไม่นับรวมรายการดังกล่าวกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2562 ถือว่ากำไรสุทธิจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 19 ล้านบาท เพราะรายได้จากธุรกิจหลักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งรายได้ค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรายได้การพัฒนาเชิงพาณิชย์

ความแข็งแกร่งของ BEM เห็นได้จากบริษัทมีรายได้จากธุรกิจระบบราง 1,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 48 ล้านบาท หรือ 3.9% สาระสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตามปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้โดยสารของสายสีน้ำเงินในไตรมาส 3/2562 เฉลี่ยวันละ 335,400 เที่ยว และจำนวนผู้โดยสารในวันทำงานเฉลี่ยวันละ 386,800 เที่ยว เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 5.1% และ 4.5% ตามลำดับ

ขณะที่บริษัทมีรายได้จากธุรกิจทางพิเศษ 2,608 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 47 ล้านบาท หรือ 1.8% รายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (SOE) โดยในไตรมาส 3/2562 นี้ SOE มีปริมาณจราจรเฉลี่ยวันละ 66,500 เที่ยว เพิ่มขึ้น 18.1% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเรียนรู้ของผู้ใช้บริการ รวมถึงการเปิดให้บริการทางเชื่อมต่อ SOE กับทางพิเศษศรีรัชด้านทิศเหนือ (มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ) ในส่วนทางด่วนขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด รายได้ค่าผ่านทางใกล้เคียงกับปีก่อน

ผลลัพธ์คือ นักวิเคราะห์พากันแนะนำให้ “ซื้อ” BEM เมื่ออ่อนตัว ทำให้ราคาทรงตัวนิ่งไม่หวั่นไหวใต้ 11.00 บาท

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับราคาหุ้นใหญ่ทั้ง 3 ราย สะท้อนว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด มีความเข้าใจและทันเกมของมายาแห่งกำไรพิเศษดีพอสมควร

โดยทั่วไปแล้ว กำไรพิเศษ หรือ ขาดทุนพิเศษ (Extraordinary item) คือรายการทางบัญชีที่เกิดจากเหตุการณ์พิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นปรกติของกิจการ ส่งผลให้รอบบัญชีนั้นเกิดการกำไรหรือขาดทุนมากหรือน้อยไปกว่าปรกติ ส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการประเมินมูลค่าหุ้นได้ การประเมินมูลค่ากำไรพิเศษ จึงเป็นเรื่องปลีกย่อยหนึ่งของการลงทุนที่สำคัญ

ถือกันว่า กำไร/ขาดทุนพิเศษ คือ รายการที่คาดเดาไม่ได้ล่วงหน้า   ยกตัวอย่างเช่น ความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้ การขาดทุนจากวิกฤตค่าเงินแบบรุนแรง (อย่างวิกฤตต้มยำกุ้ง) เป็นต้น

คำถามคือ กำไร/ขาดทุนพิเศษ ประเมินมูลค่าได้อย่างไร  

นักบัญชีจะบอกว่า ก่อนอื่นควรแบ่งกำไร/ขาดทุนพิเศษออกเป็นกำไร/ขาดทุนที่มีรายการเงินสดจริงกับไม่ใช่รายการเงินสดจริง

สำหรับนักลงทุนระดับแมงเม่าแล้วคำอธิบายดังกล่าว ถือว่าซับซ้อนเกินจำเป็น

เอาเป็นว่า กำไรพิเศษหรือขาดทุนพิเศษจะส่งผลดีหรือเสียต่อการจ่ายปันผลมากน้อยแค่ไหน และหากกำไรจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อย หรือยังเดินหน้าต่อ แม้ไม่มาก ก็พอแล้ว ที่จะตัดสินใจว่าควรถือต่อ หรือขายทิ้ง

Back to top button