พาราสาวะถี

เป็นอันว่าชื่อของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้ถูกเสนอมาจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับสืบทอดอำนาจ) ด้วยเหตุผลว่า ไร้การตอบรับจากพรรคร่วมรัฐบาลในการที่จะผลักดันให้อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเก่าแก่ให้นั่งเป็นประธานกรรมาธิการ ฟังคำชี้แจงจาก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคก็อ้างว่า เมื่อไร้สัญญาณตอบรับถ้าส่งชื่อมาร์คไปก็เท่ากับเสียของสูญเปล่า


อรชุน

เป็นอันว่าชื่อของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้ถูกเสนอมาจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับสืบทอดอำนาจ) ด้วยเหตุผลว่า ไร้การตอบรับจากพรรคร่วมรัฐบาลในการที่จะผลักดันให้อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเก่าแก่ให้นั่งเป็นประธานกรรมาธิการ ฟังคำชี้แจงจาก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคก็อ้างว่า เมื่อไร้สัญญาณตอบรับถ้าส่งชื่อมาร์คไปก็เท่ากับเสียของสูญเปล่า

พอจะเข้าใจได้ในเมื่อพรรคแกนนำรัฐบาลกระต่ายขาเดียว เก้าอี้ดังว่าจะต้องเป็นคนของตัวเองเท่านั้น ดังนั้น การดันทุรังจึงไม่น่าจะเป็นผลดี ขณะที่ผู้จัดการรัฐบาลอย่าง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็แสดงความประสงค์ชัดเจนต้องการให้ ไพบูลย์ นิติตะวัน ไปรับตำแหน่งนี้ เพราะแม่นในข้อกฎหมายและเข้าใจในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้พรรคเก่าแก่จึงใส่เกียร์ถอยดีกว่า และไม่ได้เหนือความคาดหมายกับคำอธิบายที่จะได้ยินได้ฟังตามมา

เมื่อ ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคอ้างทันทีว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่เริ่มแรก เห็นได้จากเงื่อนไขที่ประกาศร่วมรัฐบาลที่บอกว่าจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น มันผิดไปจากนี้เสียที่ไหน สุดท้ายปลายทางหากแก้ไขไม่ได้จริง พรรคการเมืองนี้ก็จะบอกว่าได้ผลักดันอย่างเต็มที่แล้ว แต่มีเงื่อนไขสารพัดที่ไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ ซึ่งต้องไปไล่เบี้ยเอาเองกับฝ่ายที่ไม่ยอมให้แก้

ด้วยเหตุนี้นี่ไง เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง คนคุ้นเคยพรรคเก่าแก่จึงโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กให้ชวนคิด “ประชาธิปัตย์ยุคนี้ก็แค่นี้ มารยาทและการอยากร่วมรัฐบาลอยู่เหนือมติพรรคและอยู่เหนือสัญญาประชาคม ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตสมาชิกพรรคก็โพสต์แสดงข้อกังขาเหมือนกันว่า แค่กล่าวอ้างว่าถึงเสนอชื่ออภิสิทธิ์ก็คงไม่ได้มีโอกาสเป็นประธานกรรมาธิการ จึงไม่เสนอชื่อเป็นกรรมาธิการ ถือเป็นเหตุผลที่แปลก ราวกับว่าถ้าเข้ามาต้องเป็นประธานเท่านั้น เมื่อไม่ได้เป็นประธานก็ไม่ต้องเข้าไป

คำถามที่ตามมาและยังไม่ได้ยินคำตอบจากเจ้าตัวคือ อภิสิทธิ์คิดแบบที่คนของพรรคคิดแทนหรือไม่ เพราะถ้ามองจากลักษณะนิสัยเชื่อว่าอภิสิทธิ์พร้อมจะทำงานโดยเฉพาะกับตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้ เพื่อที่จะได้เข้าไปแจกแจงทำให้สังคมเห็นว่าเหตุใดจึงไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะได้มีเวทีในการทำความเข้าใจมวลหมู่สมาชิกที่ยังเป็นกองหนุนอยู่ แต่เมื่อส.ส.ของพรรคมีมติออกมาเช่นนี้ เชื่อได้ว่าเจ้าตัวคงไม่แสดงความเห็นเป็นอย่างอื่น

สิ่งที่น่าคิดจากความเห็นของสมชัยอีกประการคงเป็นประเด็นที่ว่าด้วยอำนาจในการต่อรองของพรรคเก่าแก่ เพราะเหตุผลที่อ้างว่าเกรงจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล สะท้อนถึงอำนาจในการต่อรองและความสามารถในการเจรจาของพรรคประชาธิปัตย์น้อยมาก ทั้งที่ควรจะใช้โอกาสจากการเป็นพรรคที่มีจุดยืนที่ชัดเจนและเคยประกาศต่อประชาชน รวมถึงเป็นพรรคหลักที่ต่อรองจนประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ในนโยบายเร่งด่วนข้อ 12 ของรัฐบาล เจรจาขอให้พรรคร่วมรัฐบาลให้การสนับสนุน

โดยสมชัยยกกรณีเปรียบเทียบต่อว่า หากเรื่องแบบนี้เป็นพรรคภูมิใจไทย คงพูดไปแล้วว่าไม่ได้เป็นประธานกรรมาธิการก็จะทบทวนการอยู่ร่วมรัฐบาล เพราะเป็นนโยบายสำคัญของพรรค อยู่เป็นต้องต่อรองเพื่อประโยชน์ส่วนรวมให้เป็นด้วย ในฐานะสมชัยเป็นแค่อดีตสมาชิกพรรคแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ คงไม่เข้าใจวัฒนธรรมของพรรคดีเท่ากับคนที่อยู่มานาน ไม่มีใครเชื่อว่าอย่างพรรคเก่าแก่จะอยู่ไม่เป็นและต่อรองไม่ได้ เพราะมติที่ออกมาน่าจะผ่านกระบวนการต่อรองกันมาแล้ว

มิเช่นนั้น คงไม่เกิดการพลิกมติกันจากหน้ามือเป็นหลังเท้าขนาดนี้ ถ้าจำกันได้ก็ครั้งก่อนมีมติเสนอชื่ออภิสิทธิ์เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้ไปแล้ว แต่วันวานกลับเปลี่ยนไม่มีแม้แต่ชื่อของอดีตหัวหน้าพรรค ข้ออ้างว่าไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลมันจึงดูเบาไป ยี่ห้อประชาธิปัตย์มีหรือที่จะยอมถอยแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ส่วนใครที่จะนำไปโยงกับข่าวที่ว่าแกนนำรัฐบาลกำลังเดินเกมที่จะถีบพรรคเก่าแก่ทิ้งแล้วใช้บริการพรรคนายใหญ่แทน ตรงนั้นไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้

เพราะมองไม่เห็นจุดเชื่อมที่จะนำไปถึงจุดนั้นได้ ยิ่งที่มีการบอกว่าเกิดการเจรจาโดยจะมีส.ส.ของพรรคนายใหญ่หลายสิบคนแปรพักตร์ คำถามคือมันจะไปอยู่ร่วมกันในลักษณะใด ถ้าลาออกจากพรรคก็ต้องพ้นสภาพจากความเป็นส.ส. มีแค่กรณีเดียวคือยุบเพื่อไทย ซึ่งถึงตรงนี้ยังไร้เหตุและปัจจัยที่จะนำไปสู่จุดนั้น หากเป็นพรรคอนาคตใหม่ยังพอมองเห็นความเป็นไปได้อยู่ ดังนั้น ผลจากการถอดชื่ออภิสิทธิ์ทิ้งรอบนี้ ไม่ใช่เรื่องความกดดันหรือหวั่นกลัวใด ๆ แต่เป็นเรื่องวิน-วินกันทั้งคู่มากกว่า

นับวันยิ่งเลอะเทอะไปกันใหญ่ การประชุมคณะกรรมาธิการป.ป.ช.ที่มี พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน เมื่อวันวาน ถกเถียงกันแม้กระทั่งประเด็นที่นั่งของสองที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ โดยตีรวนจากขาเก่าเจ้าประจำ ปารีณา ไกรคุปต์ กับ สิระ เจนจาคะ ด้วยท่วงทำนองของพวกกร่าง สุดท้ายจบลงด้วยการที่คนไร้มารยาทอย่างปารีณาลากเก้าอี้ไปนั่งใกล้พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ ถามผู้นำพรรคสืบทอดอำนาจว่า พอใจกับการทำหน้าที่แบบนี้ คุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชนแล้วเช่นนั้นหรือ

ส่วนประเด็นการปลดพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์พ้นเก้าอี้ประธานกรรมาธิการ หลังจากทุ่มเถียงกันแล้ว ท้ายที่สุดสองตัวป่วนจากพรรคสืบทอดอำนาจก็แพ้ย่อยยับเมื่อ 7 เสียงฝ่ายค้านเห็นว่ากรรมาธิการไม่มีอำนาจปลดประธานกรรมาธิการ ส่วนซีกรัฐบาลมีแค่ 2 เสียงของสิระ-ปารีณา ส่วนพวกพรรคร่วมรัฐบาลงดออกเสียง เท่านี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่ากลไกของสภาผู้แทนราษฎรที่เคยปฏิบัติกันมานั้น ส.ส.สมัยแรกกับพวกที่อ้างว่าเป็นส.ส.มา 4 สมัยใครกันแน่ที่เข้าใจคำว่าธรรมเนียมปฏิบัติและมารยาทได้ดีกว่ากัน

คดีรุกที่ป่าสงวนของปารีณา ดูอาการจากผู้มีอำนาจแล้วแปลกแปร่งยังไงชอบกล พลิกลิ้นกันไปมา วันนี้พูดอย่างวันต่อมาพูดอีกแบบ ฟัง ดำรงค์ พิเดช ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์และหัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย เตือนใครยุ่งคดีป่าสงวนฯ จุดจบไม่สวยอดีตรัฐมนตรีเคยตายในคุกมาแล้ว ส่วนเรื่องใบภบท.5 ไม่ต้องพูดถึงเพราะนั่นคือ “ใบรับสารภาพ” เช่นเดียวกับปมที่ส.ป.ก.ที่ไม่ต้องมาพูดถึง อย่างที่บอกไว้เรื่องนี้ถ้าจบแบบสังคมกังขา นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่รัฐบาลสืบทอดอำนาจคาดไม่ถึงก็ได้

Back to top button