กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติของประเทศเยอรมนี

เยอรมนีเป็นประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์มาเป็นระยะเวลายาวนานและในด้านระบบกฎหมายก็เช่นกัน


เยอรมนีเป็นประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์มาเป็นระยะเวลายาวนานและในด้านระบบกฎหมายก็เช่นกัน เยอรมนีมีการพัฒนากฎหมายต่าง ๆ ให้ก้าวหน้าและทันสมัยต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเสมอรวมทั้งการสร้างกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย หนึ่งในนโยบายทางกฎหมายที่ประเทศเยอรมนีให้ความสำคัญมาก คือ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนความเป็นผู้นำในด้าน Automated and Connected Driving (“ACD”) หรือหากจะแปลเป็นภาษาไทยอาจจะหมายความถึง “ระบบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติและระบบการขับขี่แบบเชื่อมต่อ”

ซึ่งการที่ประเทศเยอรมนีหรือประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรปใช้คำดังกล่าวเนื่องจากเป็นการพิจารณาระบบแบบองค์รวมเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ด้านระบบที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเท่านั้น (autonomous car/autonomous vehicle) แต่ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่สมบูรณ์จะต้องพิจารณาระบบสาธารณูปโภคด้านการขนส่งและการเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมประกอบด้วย โดยเฉพาะส่วนที่เป็น Cyber-Physical Systems ซึ่งรายงานวิจัยของสหภาพยุโรปมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2020 รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบจะเริ่มถูกจำหน่ายในท้องตลาด

เพื่อเตรียมความพร้อมของตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 ประเทศเยอรมนีได้มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ฉบับที่ 8 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ฉบับเดิม (Road Traffic Act) เพื่อให้กฎหมายครอบคลุมถึง “highly” และ “fully” autonomous vehicle ซึ่งหากดูตามแผนภาพประกอบ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะหมายถึงรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเองในระดับที่ 4 และ 5 ตามมาตรฐานของ German Association of the Automotive Industry (VDA)

โดยกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ฉบับที่ 8 ของประเทศเยอรมนี มีการแก้ไขที่สำคัญ ดังนี้

  1. กำหนดบทนิยามของคำว่า “highly” และ “fully” autonomous vehicle (ระดับที่ 4 และ 5 ตามภาพ) ได้แก่รถยนต์ที่มีการติดตั้งระบบ ดังนี้

1.1.เมื่อมีการเปิดใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ระบบดังกล่าวสามารถควบคุมรถยนต์ได้โดยการทำหน้าที่ควบคุมการขับขี่

1.2.เมื่อรถยนต์ดังกล่าวอยู่ในระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (ระดับที่ 4 และ 5 ตามภาพ) รถยนต์ดังกล่าวสามารถปฏิบัติตามกฎจราจรได้

1.3.ผู้ขับขี่สามารถเข้าควบคุมการขับขี่แทนระบบอัตโนมัติได้ตลอดเวลา

1.4.ระบบต้องสามารถแจ้งให้ทราบได้ว่าเมื่อใดระบบต้องการให้ผู้ขับขี่เข้ามาควบคุมรถยนต์แทนระบบอัตโนมัติ โดยการแจ้งทั้งภาพ เสียง และสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ขับขี่ทราบได้ และต้องมีระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถเข้าควบคุมรถยนต์ได้

  1. “ผู้ขับขี่” หมายถึง ผู้เปิดใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติและใช้ระบบดังกล่าวเพื่อควบคุมรถยนต์
  2. กำหนดความรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นในอัตราสูงสุด 10 ล้านยูโรสำหรับกรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และอัตราสูงสุด 2 ล้านยูโรสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สิน
  3. รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติต้องจัดให้มี “กล่องดำ” (black box) เพื่อบันทึกข้อมูลการขับขี่ ซึ่งในกรณีของการเกิดอุบัติเหตุจะทำให้ทราบได้ว่าผู้ขับขี่หรือผู้ผลิตรถยนต์จะต้องเป็นผู้รับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

จากกฎหมายข้างต้น ผู้เขียนมีข้อสังเกต ดังนี้

(1) ระบบกฎหมายเยอรมันให้ความสำคัญกับการควบคุมและตัดสินใจของมนุษย์มากกว่าระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ เนื่องจากกำหนดให้ผู้ขับขี่สามารถยุติระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ตลอดเวลาและเข้าควบคุมการขับขี่ด้วยตนเอง (human-centric) ซึ่งน่าสังเกตว่าหากในสถานการณ์ที่ผู้ขับขี่อาจตัดสินใจผิดพลาดเนื่องจากเหตุภววิสัยบางประการ ซึ่งระบบตัดสินใจได้ดีกว่า อาทิ สายตามนุษย์อาจมองไม่เห็นสิ่งกีดขวางข้างหน้า แต่ระบบตรวจพบ หากเป็นระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติรถยนต์ก็จะหยุดหรือเลี่ยงสิ่งกีดขวาง แต่หากเป็นมนุษย์ขับขี่ก็จะชนสิ่งกีดขวาง ในกรณีเช่นนี้ระบบก็ต้องปล่อยให้มนุษย์เข้าควบคุมใช่หรือไม่

(2) รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติต้องมีผู้ขับขี่ แม้ว่าผู้ขับขี่จะไม่ได้ควบคุมรถยนต์นั้นก็ตาม ซึ่งทำให้ไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถนำรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัตินั้นมาใช้เป็นแท็กซี่ขนส่งสาธารณะแบบไร้คนขับได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่ได้ย่อมส่งผลให้ผู้โดยสารถูกเปลี่ยนสภาพเป็นผู้ขับขี่หรือไม่

(3) ผู้ขับขี่สามารถปล่อยและละการควบคุมรถยนต์เพื่อให้ระบบอัตโนมัติทำงานได้ แต่ต้องมีการตื่นตัวตลอดเวลาเพื่อพร้อมที่จะเข้าควบคุมแทนระบบอัตโนมัติเมื่อได้รับแจ้งจากระบบ กรณีนี้ ถ้าจะหลับพักผ่อนไปเลยเมื่อขึ้นรถยนต์ก็น่าจะกระทำมิได้

ในส่วนที่กฎหมายรถยนต์ฉบับแก้ไขยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดคือการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เนื่องจากรถยนต์ต้องมีการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ขับขี่และผู้ใช้ถนนหรือผู้ขับขี่อื่น ๆ ด้วย ซึ่งกรณีนี้ต้องอยู่ภายใต้มาตรการทางกฎหมายของ GDPR ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป โดยในส่วนนี้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในภายหลัง

ข้อกังวลประการสำคัญที่สุดต่อการนำรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติดังกล่าวออกมาสู่ท้องตลาดในแง่นโยบายกฎหมายอีกประการหนึ่งคือการกำหนดหลักความรับผิด (liability rules) ซึ่งในส่วนนี้กฎหมายเยอรมันที่แก้ไขยังไม่มีความชัดเจน (เว้นแต่การกำหนดเพดานความเสียหายขั้นสูง) โดยในสหภาพยุโรปมีกฎหมายที่สำคัญ 2 ฉบับที่ใช้บังคับในประเทศสมาชิกซึ่งรวมถึงเยอรมนีด้วย ได้แก่ Motor Insurance Directive (2009/103/EC) และ Product Liability Directive (85/374/EEC) ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดไม่ครอบคลุมความเสียหายทั้งหมดที่อาจเกิดจากการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ โดยเฉพาะเมื่อความเสียหายนั้นเกิดจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ หรือความบกพร่องของซอฟต์แวร์ เป็นต้น

ในตอนต่อไปผู้เขียนจะนำประเด็นข้างต้นมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังอีกครั้งครับ.

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Fulbright Hubert H. Humphrey Fellowship

American University Washington College of Law

Back to top button