“คลัง” แจงปมภาษีที่ดินเก็บตามการใช้งานจริงเป็นหลัก เตรียมคลอด กม.ลูกคุมหลักเกณฑ์เร็วๆนี้

“กระทรวงการคลัง” แจงปมภาษีที่ดินเก็บตามการใช้งานจริงเป็นหลัก เตรียมคลอด กม.ลูกคุมหลักเกณฑ์เร็วๆนี้


นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวถึงประเด็นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 ว่าขณะนี้ยังมีประเด็นเรื่องความไม่ชัดเจนถึงการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในส่วนของที่อยู่อาศัย จะยึดแนวพิจารณาอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดมิเนียม บ้านเช่า อพาร์ตเมนท์  จึงขอชี้แจงว่าเจตนารมย์ของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคือต้องการให้การจัดเก็บภาษีง่ายที่สุด ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ แต่จะคำนึงถึงลักษณะทางกายภาพเป็นหลัก

ดังนั้นสิ่งที่เป็นที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดฯ บ้านเช่า อพาร์ตเมนท์ ถ้าใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย จะเสียภาษีในอัตราของที่อยู่อาศัยเหมือนกันหมด เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนว่าถ้าเป็นบ้านให้เช่า จะต้องเสียภาษีแบบไหน ถ้าให้เช่าอยู่อาศัยก็เสียภาษีแบบที่อยู่อาศัย

ส่วนกรณีของโฮมสเตย์ และ Airbnb (แอร์บีเอ็นบี) ถือว่าเป็นธุรกิจโรงแรมที่พัก ซึ่งหากเห็นว่าบ้านหลังนั้นๆ นำไปทำเป็นโฮมสเตย์ โฮสเทล หรือทำแอร์บีเอ็นบีก็จะต้องเสียอัตราภาษีในเชิงพาณิชย์

“หลักการของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่แรก ต้องการให้ง่าย ดูที่ลักษณะทางกายภาพ ตาเห็นอย่างไร เก็บอย่างนั้น หน่วยปฏิบัติที่จัดเก็บมี 7 พันกว่าแห่ง มีความพร้อมความเข้าใจไม่เหมือนกัน หลายท้องถิ่นเข้าใจสับสนกับภาษีเดิม เช่น บ้าน ของเดิมเสียภาษีบำรุงท้องที่ ถ้าบ้านเช่า เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน แต่ของใหม่ บ้านก็คือบ้าน ใครจะอยู่อาศัยก็คืออยู่อาศัย นี่คือหลักของภาษีที่ดิน…แต่ทั้งหมดนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ขยายเวลาออกไปอีก 4 เดือน (จากเม.ย.63 ไปเป็น ส.ค.63) ดังนั้นท้องถิ่นที่ยังไม่พร้อม ตอนนี้ยังมีเวลา ขยายออกไปอีก 4 เดือน” นายลวรณ ระบุ

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าในส่วนของที่อยู่อาศัยที่ยังมีความสับสนกันอยู่นั้น จะยึดหลักวัตถุประสงค์ของการใช้งานเป็นหลัก แม้จะเป็นคอนโดมิเนียมที่ปล่อยให้เช่า ก็จะไม่ได้คิดอัตราภาษีในเชิงพาณิชย์ แต่จะคิดในอัตราภาษีของที่อยู่อาศัย

“ยึดหลักการว่าใช้ทำอะไร คอนโดฯ ถึงจะปล่อยเช่าก็ปล่อยเช่าเพื่อที่อยู่อาศัย ดังนั้นก็คิดภาษีแบบที่อยู่อาศัย ไม่คิดเชิงพาณิชย์ จะกี่ห้องก็ไม่ว่ากัน หรือแม้แต่ห้องแถว ถ้าข้างล่างค้าขาย ข้างบนอยู่อาศัย ก็จะแบ่งกันเสียภาษีตามพื้นที่ที่ใช้งานจริง” รมว.คลัง กล่าว

ขณะที่นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเตรียมออกกฎหมายลูก โดยจะเป็นประกาศร่วมกันของ รมว.คลัง และรมว.มหาดไทย ว่าด้วยเรื่องของกฎเกณฑ์ในการพิจารณาจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในเร็วๆ นี้

นอกจากนั้นยังระบุว่า ตั้งแต่ตอนนี้ประชาชนที่ได้รับจดหมายจากสำนักงานเขตเรื่องสำรวจการใช้ประโยชน์ที่อยู่อาศัยที่ลงวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ตรงกับการใช้งานจริง เช่น อยู่อาศัย แต่ไปลงช่องอื่นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปชี้แจงกับสำนักงานเขตแล้ว ซึ่งประกาศที่จะออกมาใหม่จะกำหนดแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี

ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์ในการเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากเป็นที่ดินรกร้างและมีการปลูกพืชผลทางการเกษตร ก็นับว่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ไม่ถือว่าผิด หรือบิดเบือนการบังคับใช้กฎหมาย แต่ในประกาศจะมีการกำหนดที่ชัดเจนถึงจำนวนพื้นที่ที่ต้องใช้ในการปลูกพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนพันธุ์พืชแต่ละประเภท เช่น ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น ผัก ผลไม้ และพืชไร่ ที่ต้องกำหนดแตกต่างกันไป หากเข้าหลักเกณฑ์ก็จะเสียอัตราภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ถูกเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงแนวทางการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ดังนี้

  1. เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะให้บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัย เช่น ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย หรือให้เช่าเพื่ออยู่อาศัย ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย
  2. ให้ครอบคลุมถึงช่วงเวลาระหว่างการก่อสร้าง หรือปรับปรุงต่อเติมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยด้วย เช่น บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการตกแต่ง เป็นต้น
  3. ไม่รวมถึงโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา หรือสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ขายตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเห็นความสำคัญต่อการชี้แจงกรณีนี้อย่างเร่งด่วนเพื่อลดความสับสนและลดข้อกังวลในหมู่ประชาชน โดยแนวทางดังกล่าวจะเป็นประโยชน์และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งไม่มีที่พักอาศัยของตนเอง หรือที่เช่าที่อยู่อาศัย รวมถึงเจ้าของทรัพย์สินที่ให้บุคคลอื่นเพื่อการอยู่อาศัย หรือการให้บุคคลอื่นเช่าเพื่อการอยู่อาศัยด้วย

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดภาระของประชาชนที่จะต้องไปติดต่อกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และยังเป็นการลดภาระให้แก่เจ้าหน้าที่ อปท. ในการสำรวจอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทยจะได้ดำเนินการแจ้งให้ อปท. ทั่วประเทศทราบและถือปฏิบัติต่อไป

Back to top button