เอาจริง!! “พาณิชย์” ลงดาบร้านค้าออนไลน์ไม่แจ้งราคา โทษปรับสูงสุด 1 หมื่นบาท

"กระทรวงพาณิชย์” เตรียมลงดาบร้านค้าออนไลน์ ไม่ติดป้ายแสดงราคา เจอโทษปรับสูงสุด 1 หมื่นบาท


นายฉัตรชัย ศักดิ์ศิลปชัย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าในร้านค้าออนไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผู้ค้าจำนวนมากที่ไม่ได้โพสต์แสดงราคาขายอย่างเปิดเผย แต่จะให้ผู้ซื้ออินบ็อกซ์เข้าไปสอบถามราคา ซึ่งมองว่าไม่ยุติธรรม และถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542

ดังนั้น คณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) จึงได้ออกประกาศ กกร. ฉบับที่ 102 พ.ศ.2562 เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงราคาสินค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือออนไลน์ ลงวันที่ 4 ก.ค.62 เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ โดยกำหนดให้สินค้าออนไลน์และออฟไลน์ต้องติดป้ายแสดงราคาด้วย จากเดิมที่เน้นเฉพาะสินค้าในระบบออฟไลน์หรือร้านค้าทั่วไปอย่างเดียว หากไม่ติดป้ายแสดงราคาก็จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ทั้งนี้ ยอมรับว่า การเอาผิดในส่วนของการค้าออนไลน์ทำได้ยากเพราะตรวจสอบสถานที่ประกอบการได้ลำบาก รวมทั้งการตรวจสอบผู้ตอบข้อความลูกค้าก็ดำเนินการตรวจสอบตัวตนได้ยาก อย่างไรก็ตาม ทางกรมการค้าภายในอยู่ระหว่างการหารือในข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งหน้า เพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นกรณีไม่แสดงราคา สามารถแจ้งมายังกรมการค้าภายในผ่านหมายเลข 1569 ก็จะมีรับรางวัลนำจับ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนที่แจ้งเบาะแส

“กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคามีโทษปรับไม่เกิน 10,000บาท  กรณีจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร กักตุนสินค้าและปฏิเสธการจำหน่ายต้องโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยประกาศกกร.ในการคุมการติดป้ายสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ได้ลงประกาศตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 62 ซึ่งหลายคนยังไม่ทราบ” นายฉัตรชัย กล่าว

นายฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีประชาชนได้ร้องเรียนกรณีดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 62 ผู้บริโภคร้องเรียนกรณีร้านไม่แสดงราคาสินค้าออนไลน์ 330 ราย มากกว่าในปี 61 ที่มีผู้ร้องเรียนจำนวน 178 ราย

ซึ่งในปี 62 ที่มีผู้ร้องเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 330 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีการไม่แสดงราคาสินค้า สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความเข้าใจในสิทธิของผู้บริโภคในการตรวจสอบและร้องเรียนการจำหน่ายสินค้า หากไม่ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น

ส่วนการร้องเรียนเกี่ยวกับการไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า ภาพรวมทั่วไปในปี 61 อยู่ที่ 1,932 ราย และในปี 62 มีจำนวน 1,429 ราย

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทยในปี 61 มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 14.04% คิดเป็น มูลค่ากว่า 3.1 ล้านล้านบาท เป็นผลมาจากพฤติกรรมการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ของคนไทยเพิ่มขึ้น โดย 90% เป็นการสั่งซื้อผ่านโทรศัพท์มือถือและชำระค่าสินค้าผ่านโมบายแอพพลิเคชั่นและอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการทำธุรกิจในปัจจุบันที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค และสถานการณ์ต่างๆที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

Back to top button