บาทแข็ง และแนวต้าน 1,600 จุด

บาทที่แข็งค่าในช่วง 2 วันทำการสุดท้ายชนิดหล่นมาใต้ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลสะเทือนชนิดที่ทำให้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร้อนรนเป็นเรื่องปกติ


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

บาทที่แข็งค่าในช่วง 2 วันทำการสุดท้ายชนิดหล่นมาใต้ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลสะเทือนชนิดที่ทำให้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร้อนรนเป็นเรื่องปกติ

ผลลัพธ์จึงไม่เพียงแค่ออกมาให้สัมภาษณ์ปลอบขวัญ แต่ยังต้องมีการเข้าแทรกตลาดด้วย

ปรากฏการณ์เด้งกลับให้บาทอ่อนเหนือ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ จึงเกิดขึ้นวานนี้

ทำให้ค่าบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.10-30.16 บาท/ดอลลาร์ หลังจากที่ ธปท. ออกข่าวในช่วงเช้าว่าเงินบาทยังมีความผันผวนสูงในสภาวะที่ตลาดกำลังปรับสมดุลระหว่างแรงซื้อและแรงขายดอลลาร์ และ ธปท.จะดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดนั้น

นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรี ก็ออกมากล่าวถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและมีการคาดการณ์ปีนี้ว่าจะหลุด 30 บาท/ดอลลาร์ว่า ได้มีการหารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันทั้งจากกระทรวงการคลัง ธปท. และหน่วยงาน ด้านเศรษฐกิจ เพื่อติดตามสถานการณ์เงินบาทอย่างใกล้ชิดและหามาตรการเสริมมาช่วยลดผลกระทบ

สงครามชักเย่อเรื่องค่าบาท น่าจะเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ของปีนี้ พร้อมกับตัวเลขการขาดทุนของ ธปท. จากการแทรกตลาดให้บาทมีเสถียรภาพ และตัวเลขทุนสำรองเงินตราที่จะเพิ่มขึ้นสวนทางกัน

ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าเทียบดอลลาร์ สิงคโปร์ ในรอบ 5 ปี และแข็งค่าเทียบเงินหยวนของจีน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ปีนี้จะมีสถิติใหม่อะไร ถือว่าน่าติดตาม

ดังที่รู้กัน การแข็งค่าผิดปกติของค่าเงินบาทเป็นผลจากความ ไม่แน่นอนสงครามการค้าทำให้มีการนำเงินมาพักในไทยที่ความเสี่ยงต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค และไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง เห็นการไหลเข้ามาพันธบัตรระยะสั้น

ค่าบาทที่แข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นจะส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันของไทยเทียบประเทศในภูมิภาคได้ 

พฤติกรรมการไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ต่างชาติมาพักในตลาดตราสารหนี้โดยไม่เข้ามาในตลาดหุ้น เป็นความย้อนแย้งที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย ถือเป็นภาวะไม่ปกติของตลาดทุนและตลาดเงินที่ไม่สอดรับกันเป็นเนื้อเดียว

เมื่อค่าเงินบาทแข็งขึ้น ผลสะเทือนเชิงลบย่อมตกที่รายรับของผู้ส่งออก กล่าวคือได้เงินบาทน้อยลง เมื่อตลาดทั้งตลาดเป็นอย่างนี้ ส่งผลให้การส่งออกย่ำแย่ และราคาสินค้าเกษตรกับโภคภัณฑ์การรับซื้อผลิตภัณฑ์ เช่น ข้าวยางพารา อ้อยและน้ำตาล ก็จะต่ำลง ผู้รับภาระขั้นสุดท้ายก็คือ เกษตรกรทั้งหลาย

โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจประเทศเล็กและเปิด ทั้งในภาคส่งออกนำเข้าสินค้าและบริการ มีมูลค่ากว่า70 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ประชาชาติ มีระบบการเงินที่เปิดให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี เมื่อค่าบาทแข็ง ผู้ส่งออกจะถูกบังคับให้ต้องดำเนินการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าในลักษณะ ขายชอร์ต เพื่อป้องกันความเสี่ยงทั้งต่ออัตราแลกเปลี่ยน และ ราคาสินค้า

เช่นเคย ทุกครั้งที่ค่าบาทแข็ง จะมีคำถามว่าท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดำเนินการอย่างไร

คำตอบอันแสนคุ้นเคยจนไม่น่าประหลาดใจ (ทั้งที่ควรอย่างยิ่ง) จากผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยที่มักออกมากล่าวแก้ตัวแบบสูตรสำเร็จอยู่เสมอในลักษณะ โกหกสีขาว ย่อมเป็นการปัดสวะให้สาธารณะเข้าใจสถานการณ์คลาดเคลื่อนได้

เมื่อปีก่อน กระทรวงการคลังเคยตั้งประเด็นเรื่องบาทแข็งกระทบผู้ส่งออกขึ้นมาเป็นเรื่องชวนทะเลาะ เมื่อนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ระบุว่า เป็นหน้าที่ของ ธปท. ที่ต้องดูแลไม่ให้เงินบาทแกว่งตัวมากเกินไป และต้องปรับสมดุลให้เงินบาทอยู่ในระดับเดียวกันกับค่าเงินของประเทศคู่แข่งของไทย เพราะถ้าหากเงินบาทแข็งค่าเกินไป ผู้ส่งออกจะเสียเปรียบคู่แข่งในเวทีการค้าโลก แต่ประเด็นดังกล่าวก็เงียบลง เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล

การอ่อนค่าของบาทปีก่อน มีคำอธิบายว่า เกิดจาก 3 เหตุปัจจัยคือ 1)  ธนาคารโลก คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 62 จะขยายตัว 3.8% และ 3.9% ในปีถัดไป ซึ่งชะลอลงเล็กน้อยจากในปี 2561 ที่ เติบโต 4.1% ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3.8% ต่ำสุดในอาเซียน 2) การที่รัฐบาลเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวสะท้อนให้เห็นว่ากลไกด้านอื่นของเศรษฐกิจทำงานไม่ดี 3) หนี้ภาครัฐหรือหนี้สาธารณะที่ยังพุ่งต่อเนื่องจากสิ้นปี 2561 ที่เฉียด 7 ล้านล้านบาทหรือ43.35% ของจีดีพี (เป็นหนี้รัฐบาล 5.5 ล้านล้าน โดยกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 22,600 ล้านบาท) สอดรับกับทิศทางมุ่งสู่อันตรายระดับโลก ของสถาบันจัดอันดับ ฟิทช์ เรทติ้งส์

ทางเลือกของบาทแข็งที่สวนทางกับเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่ลง เหลือไม่มากนัก คือ ธปท.ต้องลดศักดิ์ศรีด้วยการยินยอมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง หรือรัฐบาลยอมกระเป๋าฉีกขาดดุลงบประมาณทุ่มหน้าตักกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประคองตัว

ไม่ว่าทางเลือกไหน ล้วนไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเลย เพราะอย่างแรกฟันด์โฟลว์จะไหลออก ทำให้ดัชนี SET ดิ่งหนักทำนิวโลว์ใหม่ ๆ อย่างหลังจะทำให้ยอดหนี้สาธารณะพุ่งขึ้นสู่จุดอันตราย

ตอนนี้ ธุรกิจส่งออกและราคาสินค้าเกษตรไม่น้อยเริ่มพากันพังพาบไปแล้ว แต่สงครามยังไม่จบ หรือเพิ่งจะเริ่มเท่านั้น

ผลพวงของบาทแข็ง จะออกฤทธิ์แรงแค่ไหน ยากจะคาดเดา

ระวังตัวให้ดีละกัน

Back to top button