ครม.เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 64 วงเงิน 3.30 ล้านลบ.

ครม.เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 64 วงเงิน 3.30 ล้านลบ.


นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้(7ม.ค.63)ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยประมาณการรายจ่ายไว้ที่ 3.30 ล้านล้านบาท ประมาณการรายได้ 2.77 ล้านล้านบาท และขาดดุลงบประมาณราว 5.23 แสนล้านบาท

พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตและความเห็นของที่ประชุม 4 หน่วยงาน คือ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

สำหรับวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในส่วนของรายได้ คาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวมจำนวน 3,264,200 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร อากรถอนคืนกรมศุลกากร การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด การกันเงินเพื่อชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คงเหลือรายได้สุทธิ จำนวน 2,777,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดการรายจ่ายภาครัฐสามารถขับเคลื่อนภารกิจตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2562 – 2565) แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายรัฐบาลได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินภารกิจของหน่วยงานตามกฎหมาย จึงได้กำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุลสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 523,000 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,300,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่กำหนดไว้ 3,200,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 100,000 ล้านบาท หรือ 3.1%

สำหรับการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 อยู่บนสมมติฐานที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 64 จะขยายตัวในช่วง 3.1 – 4.1% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศ ตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ และการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ

ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 64 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 0.7-1.7% ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 5.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

สำหรับข้อสังเกตและความเห็นของที่ประชุม 4 หน่วยงาน มีดังนี้

การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ควรเป็นการดำเนินนโยบายการคลังที่ยืดหยุ่นและสามารถตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจที่อาจไม่เป็นไปตามที่ประเมินไว้ได้อย่างทันท่วงที

การจัดทำงบประมาณควรคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความท้าทายมากขึ้นในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงาน ที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ซึ่งส่งผลให้แรงงานบางส่วนถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี และอาจไม่สมารถปรับตัวได้ดีดังเช่นอดีตที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น

การจัดสรรเงินอุดหนุนให้ อปท.เป็นภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเงินอุดหนุนบางส่วนมีความซ้ำซ้อน จึงเห็นควรให้มีการพิจารณาทบทวนเงินอุดหนุนสำหรับภารกิจที่มอบหมายให้ อปท.ดำเนินการแทนรัฐบาล รวมถึงการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การกันเงินสำรองและการใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท. ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ อปท.มีสภาพคล่องเกินอยู่ในระดับสูง สะท้อนให้เห็นได้จากเงินฝากของ อปท.ในระบบสถาบันการเงินที่มีจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Back to top button