“ธปท.” ชี้ระบบการเงินไทยปี 62 ยังเสถียรภาพ แต่ยังห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่งเซ่นศก.ชะลอตัว

"ธปท." เผยระบบการเงินไทยปี 62 ยังมีเสถียรภาพ แต่หนี้ครัวเรือนยังน่าห่วงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว


นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยประจำปี 2562 โดยชี้ว่า ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ความเสี่ยงในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำนาน ซึ่งจะเอื้อต่อการสะสมความเปราะบางในด้านต่างๆได้แก่

  1. หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ซึ่งมีแนวโน้มด้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจ
  2. พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนสูงขึ้น (search for yield) จนอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินควร (underpricing of risks) โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยนักลงทุนบุคคลอาจไม่ได้รับข้อมูลความเสี่ยงอย่างครบถ้วน
  3. สหกรณ์ออมทรัพย์ขยายตัวต่อเนื่องและมีความเชื่อมโยงกันเองผ่านการรับฝากและปล่อยกู้ระหว่างกัน ซึ่งอาจเป็นข้อต่อในการส่งผ่านความเสี่ยงในระบบสหกรณ์ โดยเฉพาะจากสหกรณ์ออมทรัพย์กลุ่มที่ขาดสภาพคล่อง

และ 4. ภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังมาตรการ Loan to Value Ratio (LTV) มีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน ปี 2562 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ยังขยายตัวได้โดยผู้กู้ซื้อบ้านหลังแรกไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่การเก็งกำไรชะลอลง และมาตรฐานการให้สินเชื่อรัดกุมขึ้น โดยเฉพาะการกู้ซื้อบ้านพร้อมกัน 2 หลังขึ้นไป

ในระยะต่อไป ยังต้องติดตามภาวะอุปทานคงค้าง โดยเฉพาะอาคารชุดในบางพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างชาติ และมีอุปทานคงค้างสูงตั้งแต่ก่อนมาตรการ LTV

นายสักกะภพ กล่าวว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยยังน่ากังวล โดยพบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ยังอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยกลับมาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2561 เป็นการขยายตัวจากสินเชื่ออุปโภคและบริโภคทุกประเภท ซึ่งเป็นผลจากทั้งการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อยที่สูงขึ้น และพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือนที่มากขึ้น รวมทั้งความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ซึ่งมีแนวโน้มด้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับสาเหตุที่ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้ต่อเดือนสูง เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการบริโภค (ผ่อนสั้น ดอกเบี้ยสูง) โดย 42% ของการผ่อนชำระหนี้ เป็นหนี้เพื่อการบริโภค เช่น สินเชื่อเพื่อธุรกิจ, สินเชื่อส่วนบุคคล, สินเชื่อบัตรเครดิต หากต้องเจอกับปัญหาที่ทำให้รายได้ลด ก็จะเพิ่มโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะการเงินเปราะบาง ครัวเรือนเกษตรกร และผู้ที่เกษียณอายุ

นายสักกะภพ มองว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่แก้ได้ยากและต้องใช้เวลา ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขแบบองค์รวม รวมทั้งอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เช่น 1 เน้นนโยบายส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมของครัวเรือน สร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชน 2. เน้นนโยบายส่งเสริมให้เกิดการปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสม ให้คำนึงถึงความสามารถดำรงชีพของผู้กู้ และไม่กระตุ้นก่อหนี้เกินความจำเป็น 3. เน้นนโยบายปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่เดิม และ 4.หลีกเลี่ยงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ทำให้กลุ่มครัวเรือนกลุ่มเปราะบางเป็นหนี้เพิ่มขึ้น

Back to top button