“พาณิชย์” เผย 11 เดือนแรกปี 62 ไทยใช้สิทธิฯ FTA-GSP ลดลง 4% เหลือ 6.5 หมื่นล้านเหรียญฯ

"กระทรวงพาณิชย์" เผย 11 เดือนแรกปี 62 สินค้าไทยใช้สิทธิฯ FTA-GSP ลดลง 4% เหลือมูลค่ากว่า 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ


นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนม.ค.-พ.ย.62

โดยมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 65,642.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 75.98% ลดลง 4.14% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 60,790.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 4,852.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การใช้สิทธิประโยชน์ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-พ.ย.) ภายใต้ความตกลง FTA ของไทยจำนวน 11 ฉบับ จาก FTA ที่ไทยมีรวมทั้งหมด 13 ฉบับ เนื่องจากไม่คิดรวมความตกลงอาเซียน-ฮ่องกง ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.62 และ ไทย-นิวซีแลนด์ ที่ใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออก (Self-declaration) มีมูลค่า 60,790.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 77.26% ของมูลค่าการส่งออกรวมในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 78,679.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกที่ลดลง 2.8% ซึ่งยังคงลดลง 5.52% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยยังคงมีสาเหตุสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอันเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงปัจจัยด้านค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ FTA ในภาพรวมจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ยังมีบางตลาดที่มีการขยายตัวของอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ได้แก่ 1. เปรู ขยายตัวดีที่ 31.96% มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น ถุงมือใช้ในทางศัลยกรรม รถจักรยานยนต์ความจุกระบอกสูบ 250-500 ลบ.ซม. มอนิเตอร์และเครื่องฉาย เป็นต้น 2. จีน ขยายตัวที่ 2.17% มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด ผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง เป็นต้น และ 3. นิวซีแลนด์ ขยายตัวที่ 1.77% มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น เครื่องประดับที่ทำจากเงิน แผ่นและแถบทำด้วยอะลูมิเนียม แผ่นฟิล์มทำด้วยพลาสติก เป็นต้น

สำหรับตลาดที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ FTA ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อาเซียน (ลดลง 8.27%) ออสเตรเลีย (ลดลง 15%) ชิลี (ลดลง 29.19%) อินเดีย (ลดลง 3.33%) ญี่ปุ่น (ลดลง 0.81%) และเกาหลี (ลดลง 6.12%)

โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA สูงสุด 5 อันดับแรกยังคงเป็น 1. อาเซียน (มูลค่า 22,716.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2. จีน (มูลค่า 16,566.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3. ออสเตรเลีย (มูลค่า 7,285.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4. ญี่ปุ่น (มูลค่า 6,971.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 5. อินเดีย (มูลค่า 3,963.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

ส่วนกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ไทย-ชิลี (100%) 2. ไทย-เปรู (93.28%) 3. อาเซียน-จีน (90.94%) 4. ไทย-ญี่ปุ่น (88.88%) และ 5. อาเซียน-เกาหลี (82.86%)

ขณะที่รายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด น้ำตาลจากอ้อย และผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง

ทั้งนี้ การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนม.ค.-พ.ย.62 ไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP จำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ โดยมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP ใน 11 เดือนแรกอยู่ที่ 4,852.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 62.87% ของมูลค่าการส่งออกรวมในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้า ซึ่งมีมูลค่า 7,718.52 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 17.44%

สำหรับ 11 เดือนแรกของปี 2562 ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิอยู่ที่ 4,413.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิฯ 67.03% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิฯ ซึ่งมีมูลค่า 6,583.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา 11%

ถัดมา คือสวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 283.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีอัตราการใช้สิทธิฯ ที่ 35.49% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 798.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ 2.27% ในส่วนประเทศรัสเซียและเครือรัฐ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 129.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีอัตราการใช้สิทธิฯ ที่ 80.77% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 160.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ 15.14%

และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 25.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีอัตราการใช้สิทธิฯ ที่ 100% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 25.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ 35.99% สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยางอื่นๆ อาหารปรุงแต่งอื่นๆ น้ำผลไม้ และเลนส์แว่นตา

ในปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ อาทิ สงครามการค้า, ปัญหาเงินบาทแข็งค่า รวมไปถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่สหรัฐฯ ประกาศระงับสิทธิ GSP สินค้าไทยบางรายการ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.62 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการค้าระหว่างประเทศต่อเนื่องถึงปี 2563

อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีสหรัฐฯ ประกาศระงับสิทธิ GSP สินค้าไทยบางรายการ ควบคู่ไปกับการเจรจากับฝ่ายสหรัฐฯ กรมการค้าต่างประเทศ ได้ส่งแบบสอบถามเพื่อสำรวจผลกระทบและมาตรการบรรเทาที่ภาคเอกชนประสงค์จะได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงได้จัดประชุมหารือเพื่อเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ต.ค.62 เพื่อติดตามผลกระทบต่อการส่งออกไทย โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ม.ค.63 เพื่อหารือมาตรการรองรับผลกระทบต่อผู้ส่งออกที่มีการพึ่งพาสิทธิ GSP

โดยในการประชุมครั้งที่ 2 นี้ กรมฯ ได้ประสานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อเชิญผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น อาหารปรุงแต่ง, เซรามิก, เคมีภัณฑ์, เครื่องหนังฟอก, กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มเหล็ก เข้าร่วมประชุมฯ และแจ้งข้อมูลเพื่อให้กรมฯ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลผลกระทบและความต้องการที่แท้จริงของภาคเอกชน ซึ่งภาครัฐได้เตรียมมาตรการรองรับทั้งระยะสั้นและระยาวที่สามารถให้การสนับสนุนและ สรุปได้ 4 แนวทาง ได้แก่

  1. ด้านการเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุน
  2. ด้านตลาด อาทิ เร่งทำข้อตกลงทางการค้าโดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป และ RCEP พร้อมสนับสนุนกิจกรรมการขยายตลาดใหม่โดยการจัดแสดงสินค้าในต่างประเทศ การจัดคณะนักลงทุน/นักธุรกิจร่วมกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Business matching) รวมถึงการสนับสนุนในลักษณะพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาในการเข้าสู่ตลาดใหม่
  3. ด้านการอำนวยความสะดวก อาทิ ลดต้นทุนการผลิต ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า

และ 4. ด้านการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและสร้างนวัตกรรม เช่น ส่งเสริมการลงทุน R&D สนับสนุนการนำงานวิจัยมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ และสร้าง Startup/ผู้ประกอบการสินค้านวัตกรรมในตลาดสหรัฐฯ

ในระยะต่อไป กรมการค้าต่างประเทศ จะดำเนินการร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการรองรับผลกระทบในรายละเอียด เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนอย่างแท้จริงต่อไป

 

 

Back to top button