อย่าให้แย่ตามเศรษฐกิจ

การเมืองก็แย่ ส.ส.ซีกฝ่ายรัฐบาลเสียบบัตรแทนกัน ส่อแววว่าพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายจะต้องล่าช้าออกไปอีกแน่นอน เศรษฐกิจก็มีแนวโน้มจะจมดิ่งลงไปอีก แล้วตลาดหุ้นจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

การเมืองก็แย่ ส.ส.ซีกฝ่ายรัฐบาลเสียบบัตรแทนกัน ส่อแววว่าพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายจะต้องล่าช้าออกไปอีกแน่นอน เศรษฐกิจก็มีแนวโน้มจะจมดิ่งลงไปอีก แล้วตลาดหุ้นจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร

ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯพ.ศ. 2563 ที่ล่าช้าอยู่แล้ว เกือบ 4 เดือน ก็ต้องล่าช้าต่อไปอีก เพราะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เนื่องจากมีบรรทัดฐานในเรื่องส.ส.เสียบบัตรแทนกันในกรณีร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านฯ เป็นโมฆะ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาแล้ว

การที่งบประมาณล่าช้าก็จะทำให้ ส่วนราชการก็ไม่สามารถจะจัดซื้อจัดจ้างได้ อุตสาหกรรมการก่อสร้างได้รับผลกระทบ และเศรษฐกิจก็ขาดเงินหมุนเวียนในระบบ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจให้เลวร้ายลงไปอีก

ในด้านของตัวเศรษฐกิจเอง ภาวะการส่งออก ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญปั่นจีดีพี. ในปีที่ผ่านมา ก็แสดงผลงานติดลบไปร้อยละ 2.65 จากยอดการส่งออก 246,244.5 ล้านบาท และยอดการนำเข้า 236,639.9 ล้านบาท ยังคงเกินดุลการค้าอยู่ 9,6064.6 ล้านบาท

เงินบาท” ยังคงแข็งค่าต่อไปแน่นอน จากการเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ยิ่งจะทำให้การท่องเที่ยวและส่งออกได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง การจ้างงานจะลดลง และโรงงานจะปิดตัวเองมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ระดับการผลิตที่ใช้ก็อยู่ในระดับเพียงแค่ร้อยละ 50-60 เอง

บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนบาท ที่เกื้อหนุนต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ก็อย่างที่รู้ ๆ กันอยู่ มุ่งเป้าไปที่กรอบเงินเฟ้อ (อินเฟลชั่น ทาร์เก็ตติ้ง) อันไม่ใช่โจทย์ใหญ่ สาระสำคัญของเศรษฐกิจไทยแต่อย่างใดเลย และก็ตั้งโจทย์ผิดเช่นนี้มาหลายปีดีดักแล้วด้วย

อัตราเงินเฟ้อในรอบ 5 ปีมานี้ ไม่เคยพุ่งแตะกรอบล่างที่แบงก์ชาติตั้งเป้าหมายไว้ด้วยซ้ำ แต่ปัญหาแท้จริงตอนนี้คือ “เงินฝืด” ที่แบงก์ชาติต้องหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการบริโภคและการลงทุน โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง อีกทั้งยังเป็นการสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้าอีกด้วย

แบงก์ชาติเอาแต่ห่วง “อินเฟลชั่น ทาร์เก็ตติ้ง” ซึ่งไม่มีอยู่จริงและไม่ตอบโจทย์ เสียจน “เงินบาท” เป็นเงินสกุลเดียวที่แข็งค่ามากที่สุดในโลกไปแล้ว การส่งออกยิ่งจะยากลำบากขึ้นไปอีกในปีหน้า

ตลาดหุ้นล่ะ! จะอยู่ได้อย่างไร ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรง และการเมืองที่ไม่ก่อปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจสักเท่าไหร่นัก

ตลาดหุ้นก็ต้องพึ่งพาเสาหลัก คือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนล่ะครับ  ซึ่งแน่นอน ผลกำไรก็คงไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน แต่มองอีกมุมหนึ่ง ราคาหุ้นที่ลดลงมา ก็ทำให้ตัวเลขค่าดัชนีต่าง ๆ อาทิ ราคาหุ้น/กำไร (P/E) ราคาหุ้น/มูลค่าทางบัญชี (P/BV) และอัตราเงินปันผล (Yield) ดูดีและมีความสมเหตุสมผลมากขึ้น

เป็นโอกาสในการเข้าลงทุนได้เหมือนกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต. ถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการให้การศึกษา ฝีกอบรม และงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะให้มีความรู้ความเข้าใจใน “คุณค่าตลาดหุ้น” ที่แท้จริง

ซึ่งการเข้ามาลงทุนของนักลงทุน ไม่ได้มุ่งหวังแต่เพียงกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นเท่านั้น หากยังต้องมุ่งหวังในเงินปันผลในสัดส่วนที่มากขึ้นด้วย ยามเกิด “แพนิก” ในตลาด ราคาหุ้นก็จะไม่ผันผวนจากการเทขายมากนัก

ยิ่งในสภาพที่อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์อยู่ในระดับต่ำ การลงทุนในตลาดหุ้นยิ่งถือเป็นโอกาสและทางเลือกอีกทางหนึ่งในการบริหารจัดการเงินออม

ในยามที่เกิดข่าวด้านลบต่อตลาดไม่ว่าเรื่องใด อาทิเช่น ข่าวร้ายที่จีนประกาศนโยบายห้ามใช้พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้อันกระทบต่อหลักทรัพย์ในกลุ่มปิโตรเคมีในเวลานี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ควรจะเป็นหน่วยงานตั้งต้นในการหาทางบรรเทาข่าวร้ายนี้

ซึ่งในความเป็นจริง ธุรกิจปิโตรเคมีหลายบริษัทในตลาดฯ ก็ได้ทำการลงทุนผลิต “ไบโอพลาสติก” ที่ย่อยสลายหรือนำไป “รีไซเคิล” ได้มาหลายปีแล้ว

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรขอความร่วมมือให้ผู้บริหารบริษัทต่าง ๆ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อหยุดยั้งหรือบรรเทาภาวะ “แพนิก” ต่อหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีดังกล่าว มิให้ภาพรวมของตลาด เสื่อมทรุดไปกว่านี้

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในภาวะเศรษฐกิจยากลำบากเช่นนี้ ควรใช้หลักบริหารเหมือนตลาดสด ที่สรรหาสินค้าคุณภาพดีมาขาย และป้องกันข่าวร้ายข่าวลือทั้งปวง ที่จะส่งผลกระทบต่อตัวสินค้า

Back to top button