สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 ม.ค. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 ม.ค. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (24 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนได้เทขายหุ้นออกมา ท่ามกลางความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับขอบเขตการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มขึ้นในประเทศจีน และขณะนี้สหรัฐพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นรายที่ 2 แล้ว

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,989.73 จุด ลดลง 170.36 จุด หรือ -0.58%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,295.47 จุด ลดลง 30.07 จุด หรือ -0.90% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,314.91 จุด ลดลง 87.57 จุด หรือ -0.93%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (24 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหภาพยุโรป (EU) ปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งในเดือนม.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่ภาคการผลิตของ EU จะฟื้นตัวต่อไปในปีนี้

ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.86% ปิดที่ 423.64 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,024.26 จุด เพิ่มขึ้น 52.47 จุด หรือ +0.88%ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,576.68 จุด เพิ่มขึ้น 188.26 จุด หรือ +1.41% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,585.98 จุด เพิ่มขึ้น 78.31 จุด หรือ +1.04%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (24 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการของอังกฤษที่แข็งแกร่งในเดือนม.ค. และนักลงทุนคลายวิตกเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประกาศให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,585.98 จุด เพิ่มขึ้น 78.31 จุด หรือ +1.04%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อวันศุกร์ (24 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากจีนไปยังประเทศต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อการเดินทาง ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 1.40 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 54.19 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 1.35 ดอลลาร์ หรือ 2.2% ปิดที่ 60.69 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (24 ม.ค.) ที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์นับตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทางเทคนิค และเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีน และกำลังแพร่เชื้อไปยังประเทศต่างๆ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 6.5 ดอลลาร์ หรือ 0.42% ปิดที่ 1,571.9  ดอลลาร์/ออนซ์ และในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาทอง ปรับตัวขึ้น 0.7%

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 28.4 เซนต์ หรือ 1.59% ปิดที่ 18.113 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 3.3 ดอลลาร์ หรือ 0.33% ปิดที่ 1,010.6 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 12.7 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 2,316.3 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (24 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลงมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่เปลี่ยนแปลง และเตรียมเริ่มทำการทบทวนกลยุทธ์นโยบายการเงิน

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.17% สู่ระดับ 97.859

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1029 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1055 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3078 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3117 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6822 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6841 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9708 ฟรังก์ จากระดับ 0.9696 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3142 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3128 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.27 เยน จากระดับ 109.52 เยน

Back to top button