ลุ้นงบไม่โมฆะ

ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ขัดรัฐธรรมนูญเพราะ ส.ส.เสียบบัตรแทนกันหรือไม่ ผลออกมาได้ 3 หน้าคือ ขัด (โมฆะ) ไม่ขัด หรือขัดแต่ไม่ตกไป 


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ขัดรัฐธรรมนูญเพราะ ส.ส.เสียบบัตรแทนกันหรือไม่ ผลออกมาได้ 3 หน้าคือ ขัด (โมฆะ) ไม่ขัด หรือขัดแต่ไม่ตกไป 

 ทางเลือกที่ 3 โผล่มาได้ไง อ้าว ก็ในหนังสือพรรคร่วมรัฐบาลส่งศาลวินิจฉัย ตั้งไว้ 3 ประเด็น คือ หนึ่ง กระบวนการตรากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ สอง หากขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจะตกไปทั้งฉบับ หรือเฉพาะมาตรา และจะถือว่าสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 105 วันหรือเปล่า สาม หากตกไปทั้งฉบับ หรือบางมาตราจะต้องดำเนินการอย่างไร 

 อย่างนี้ก็มีด้วย ศาลรัฐธรรมนูญนะ ไม่ใช่กฤษฎีกา ที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาล อ.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย จึงชี้ว่า แม้รัฐธรรมนูญ 2560 ให้ถามความเห็นศาลได้ ก็เป็นอีกกรณี คือถามตามมาตรา 210 เรื่องอำนาจหน้าที่ ไม่ใช่มาถามตอนเข้าชื่อให้ศาลวินิจฉัยว่า กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามมาตรา 148 

 ก็เอาไว้ดูกันว่าศาลจะรับข้อ 2 ข้อ 3 หรือไม่ แต่มีข้อสังเกตว่าเงื่อนไข 105 วัน ตามมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญ น่าจะมาจากไอเดีย วิษณุ เครืองาม ที่ยกมาอ้างว่า เซฟร่าง พ.ร.บ.งบได้ 

 แต่โภคิน พลกุล, เจษฎ์ โทณวณิก ซึ่งอยู่คนละฝ่าย ก็แย้งเนติบริกรว่าอ้างผิด เพราะมาตรา 143 มีไว้ในกรณีที่สภาถ่วงเวลา โยกโย้พิจารณาไม่เสร็จสักที จึงบัญญัติว่าถ้าครบ 105 วัน ให้ถือว่าสภาผู้แทนเห็นชอบ ส่งให้วุฒิสภาได้เลย กรณีนี้มันต่างกัน คือสภาเห็นชอบไปแล้วแต่เกิดปัญหาเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งเป็นเรื่องกระบวนการตรากฎหมาย 

 ถามว่าลุ้นอยากให้ศาลวินิจฉัยอย่างไร อยากให้ไม่โมฆะสิครับ แต่ไม่ใช่เอาใจช่วยรัฐบาล หรืออยากให้งบผ่านเร็ว ๆ จะได้ไม่กระทบเศรษฐกิจ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ฯลฯ 

 เป็นเรื่องหลักกฎหมาย ซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ที่มีมติ 6-2 ว่า ส.ส.เสียบบัตรแทนกันไม่กี่คน ทำให้มติทั้งสภาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 

 เพราะ ส.ส.เสียบบัตรแทนกันแม้มีความผิด การลงคะแนนของเขาเสียไป แต่ก็ไม่ควรกระทบการลงคะแนนโดยสุจริตของ ส.ส.อื่น จนทำให้กฎหมายตกไปทั้งฉบับ ยกตัวอย่างกรณีนี้ ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน 2-4 คน ก็ไม่ควรทำให้การลงคะแนนของ ส.ส.รัฐบาลอีก 240 กว่าคน ไม่สุจริตไปด้วยกันทั้งหมด จนกฎหมายเป็นโมฆะ 

 แต่ในตอนนั้น นิติราษฎร์และนักกฎหมายที่เห็นต่างศาลรัฐธรรมนูญ ถูกเสียงไชโยโห่ร้องของม็อบนกหวีดปิดเมืองกลบหมด เอาความเกลียดชังรัฐบาลเข้าว่า จะกู้ไปทำไม 2 ล้านล้าน จีนจะมาลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงให้เราไม่ใช่หรือ 

 ถึงตอนนี้ เป็นไงล่ะ วิษณุต้องแถว่าบรรทัดฐานในอดีตใช้กับปัจจุบันไม่ได้ ทั้งที่ไม่ต่างกัน 

 บอกก่อนว่า ศาลเปลี่ยนคำวินิจฉัยได้นะ เพราะตุลาการ คนที่เป็นเสียงข้างมากเมื่อปี 57 ได้แก่ นุรักษ์ มาประณีต, จรัญ ภักดีธนากุล, บุญส่ง กุลบุปผา, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐสุพจน์ ไข่มุกด์จรูญ อินทจาร 2 คนหลังครบวาระไปแล้ว จึงเหลือแค่ 4 คน เสียงข้างน้อย 2 คน ชัช ชลวรเฉลิมพล เอกอุรุ คนแรกยังอยู่ อุดมศักดิ์ นิติมนตรี งดออกเสียงในครั้งนั้น อีก 3 คนยังไม่เคยลงมติ 

 เพียงแต่มันก็จะจั๊กกะจี้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร สามารถเปลี่ยนได้เมื่อเปลี่ยนองค์คณะ แล้วกระแสสังคมก็จะวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์วินิจฉัยอย่าง รัฐบาลประยุทธ์วินิจฉัยอีกอย่าง ต้องอธิบายกันลำบากแย่เลย 

Back to top button