พาราสาวะถี

บ่ายสามโมง วันนี้ ได้รู้กันศาลรัฐูธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยต่อกรณียุบพรรคอนาคตใหม่จากปมกู้เงิน 191 ล้านบาท จาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ผลออกมาจะเป็นอย่างไร กองแช่งจะสมหวังหรือกองเชียร์จะได้เฮ คำชี้ขาดที่เกิดขึ้นจะถือเป็นตัวบ่งชี้ทิศทางทางการเมืองอันว่าด้วยความเคลื่อนไหวของนักการเมืองและมวลชนที่สนับสนุน หากยุบก็ต้องจับตาส.ส.ทั้งหมดที่มีอยู่ยังเป็นเนื้อเดียวกัน ร่วมหัวจมท้ายกันเหมือนเดิมหรือเป็นผึ้งแตกรัง


อรชุน

บ่ายสามโมง วันนี้ ได้รู้กันศาลรัฐูธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยต่อกรณียุบพรรคอนาคตใหม่จากปมกู้เงิน 191 ล้านบาท จาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ผลออกมาจะเป็นอย่างไร กองแช่งจะสมหวังหรือกองเชียร์จะได้เฮ คำชี้ขาดที่เกิดขึ้นจะถือเป็นตัวบ่งชี้ทิศทางทางการเมืองอันว่าด้วยความเคลื่อนไหวของนักการเมืองและมวลชนที่สนับสนุน หากยุบก็ต้องจับตาส.ส.ทั้งหมดที่มีอยู่ยังเป็นเนื้อเดียวกัน ร่วมหัวจมท้ายกันเหมือนเดิมหรือเป็นผึ้งแตกรัง

ถ้ายังเหนียวแน่นไหลไปรวมกันยังพรรคการเมืองที่สำรองไว้แล้ว นั่นก็จะหมายถึงการขับเคลื่อนงานมวลชนของอดีตกรรมการบริหารพรรคที่หัวโขนความเป็นส.ส.จะต้องหลุดตามไปด้วย ก็จะเข้มข้นขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นไปอย่างที่ฝ่ายกุมอำนาจพยายามดักคอมาตลอดนั่นก็คือ ไม่อยากเห็นม็อบลงถนนอีก แต่การจะไปไกลถึงขนาดนั้นมันต้องมีปัจจัยที่เอื้อ แรงหนุนที่มากพอ ลำพังเพียงความไม่พอใจจากการยุบพรรคแล้วปลุกม็อบทันที เสียงส่วนใหญ่ของสังคมคงไม่ยอม

แต่ปลายทางมันคงก้าวไปถึงจุดนั้นแน่เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น ขณะที่หากบรรดาส.ส.กลายเป็นผึ้งแตกรัง กระจัดกระจาย โดยมีจำนวนไม่น้อยไหลไปรวมกับพรรคสืบทอดอำนาจหรือพรรคในขั้วรัฐบาล นั่นก็จะส่งผลต่อการทำงานของพรรคฝ่ายค้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกัน การได้จำนวนส.ส.จากการยุบพรรคไปร่วมก็ใช่ว่าจะทำให้ทุกอย่างราบรื่น เรียบร้อย เพราะรัฐบาลจะหลุดพ้นเสียงปริ่มน้ำแล้ว แต่พลังในการต่อรองเกี่ยวกับตำแหน่งและผลประโยชน์ทางการเมืองย่อมจะมีมหาศาลตามมาด้วย

ยิ่งหากเป็นการไปร่วมแบบแพ็กใหญ่ โดยมีแกนนำกลุ่ม ตรงนั้นยิ่งน่าหนักใจ เพราะทุกการขับเคลื่อนมันหมายถึงต้นทุนที่จะต้องควักจำนวนไม่น้อย ถ้าไม่มีตำแหน่งให้ก็ต้องไปว่ากันด้วยผลประโยชน์อื่น แล้วแต่ว่าจะหยิบยื่นให้กันแบบไหน อย่างไรก็ตาม แวดวงการเมืองยังเชื่อไปในทิศทางที่ว่า ถ้ามีการยุบพรรคอนาคตใหม่ บรรดาผู้ร่วมอุดมการณ์น่าจะยังเกาะกลุ่มกันเพื่อสานต่องานการเมืองที่แต่ละคนได้เลือกมาร่วมงาน เพราะสโลแกนของพรรคก็ชี้ชัด อนาคตใหม่คือผู้คนและการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม เสียงวิจารณ์เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองในประเทศไทยมีมากันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับบริบททางการเมืองในปัจจุบัน ที่ฝ่ายกุมอำนาจเป็นผู้ได้ตำแหน่งมาจากการวางแผนสืบทอดอำนาจผ่านกลไกข้อกฎหมายที่องคาพยพของเผด็จการได้พร้อมใจกันร่างขึ้นมา ซึ่งความเห็นของ สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ น่าจะเป็นภาพสะท้อนของสิ่งที่กำลังดำเนินไปได้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด

โดยสมเกียรติมองว่า ประชาธิปไตยต้องการความหลากหลายทางความคิดและความเป็นตัวแทนของประชาชนที่มีความต้องการแตกต่างกันไป ผู้มีอำนาจจึงต้องเปิดให้มีความเห็นต่าง และเปิดให้ผู้ที่มีความเห็นต่างนั้นมีที่ยืนในระบบ โดยเฉพาะเมื่อที่มาของอำนาจนั้นมีคำถามเรื่องความชอบธรรมมาตั้งแต่แรก แน่นอนว่า ความเห็นต่างมักทำให้เกิดความตึงเครียดซึ่งอาจจะกลายเป็นความขัดแย้งหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่ความสามารถในการบริหารจัดการ

ปัญหาก็คือ ผู้มีอำนาจที่มีสายตาสั้นมักทนความเห็นต่างไม่ได้ จึงพยายามปิดกั้นความเห็นต่าง เพราะเชื่อว่าผู้เห็นต่างนั้นเป็นศัตรู ซึ่งจะนำไปสู่การขัดขวางบทบาทของผู้เห็นต่างในระบบและเพิกเฉยต่อเสียงของประชาชนที่เลือกผู้เห็นต่างนั้นมา ทั้งหมดนี้จะสร้างความขัดแย้งในสังคมให้ลุกลามมากขึ้นและทำลายความชอบธรรมของผู้มีอำนาจในสายตาประชาชนและประชาคมโลกมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วจะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจนั้นเอง

ความเห็นของสมเกียรติก็คือ ถึงจุดนี้เราคงได้แต่หวังว่า ผู้มีอำนาจจะมีสายตายาวไกลพอและรู้แจ้งต่อผลประโยชน์ในระยะยาวของตนที่เรียกว่า Enlightened self interest แน่นอนว่า คนส่วนใหญ่ก็หวังจะให้เป็นเช่นนั้น แต่ดูรูปการณ์จากการขับเคลื่อนที่ผ่านมา มันไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะความจริงของฝ่ายสืบทอดอำนาจก็คือ ทำให้ฝ่ายเห็นต่างมีที่ยืนน้อยที่สุด เห็นได้จากความพยายามใช้ทุกกลไกที่มีอยู่ทั้งที่ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จแล้ว เข้ามาจัดการฝ่ายตรงข้าม โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลที่มีอำนาจปัจจุบันนั้นผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น องค์กรที่จะนำไปสู่การยุบพรรคก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปกป้องพรรคการเมืองเพื่อให้การยุบพรรคทำได้ยาก ในทางกลับกัน กลับมีการเร่งดำเนินงานจนสังคมเกิดข้อกังขาว่าเหตุไฉนถึงต้องรีบเร่งกันขนาดนั้น เมื่อเทียบเคียงกับคดีอื่น ๆ ซึ่งตรงนี้มันเหมือนหลักฐานอันมัดแน่นว่า องคาพยพของฝ่ายสืบทอดอำนาจที่อุ้มสมกันมานั้น พร้อมที่จะขจัดเสี้ยนหนามของฝ่ายสืบทอดอำนาจได้อยู่ตลอดเวลา

ความจริงประเทศประชาธิปไตยที่เจริญแล้ว ต้องทำให้การยุบพรรคเกิดขึ้นยากที่สุด อย่างที่ ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุ  สิ่งที่ประเทศอื่น ๆ ทำคือ หามาตรการที่จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง มีคุณภาพดีขึ้น ไม่ใช่การยุบพรรคและทำให้สถาบันที่เป็นตัวแทนของประชาชนอ่อนแอ สังคมไทยทำให้การยุบพรรคเป็นเรื่องที่เกิดซ้ำ ๆ จนเหมือนเป็นเรื่องปกติและต้องชินชาเช่นเดียวกับการรัฐประหาร

แต่ถ้าใครศึกษาและติดตามการเมืองทั่วโลก จะพบว่าการยุบพรรคเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมาก ไม่ใช่ยุบกันตลอดเวลาเหมือนในสังคมไทย ความเห็นทางวิชาการของฝ่ายยืนข้างประชาธิปไตยคงไร้ความหมาย เพราะจะมีนักวิชาการเลือกข้างเผด็จการ ออกมาให้ความเห็นในทางตรงข้าม โดยอาศัยสื่อรับใช้เผด็จการสืบทอดอำนาจโหมกระพือสร้างกระแส ขณะที่บรรดาคนดี (เลือกข้าง) ทั้งหลายแหล่ก็จะอาศัยต้นทุนที่ตัวเองมีออกมาสนับสนุนอีกแรง เช่นนั้นก็ต้องปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม

หันกลับมาดูพรรคสืบทอดอำนาจ การขอเข้าพบ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดของ 2 กลุ่มการเมืองภายในพรรค สะท้อนภาพความขัดแย้งที่พยายามกดทับกันไว้ตั้งแต่คราวจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีหนก่อน มารอบนี้ทุกท่วงท่าที่แสดงออกแม้จะบอกกันว่า ไม่ได้หวังผลทางการเมือง แต่คนทั่วไปก็รู้ สิ่งที่ทำกันอยู่นั้นคือการหวังตำแหน่งรัฐมนตรีบนความเชื่อที่ว่า หลังศึกซักฟอกหนนี้จะต้องมีการปรับครม.ตามมาแน่ จริงหรือไม่ไปวัดกันในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในต้นสัปดาห์หน้านี้

Back to top button