ลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน

การประชุมฉุกเฉินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ย ก่อนที่การประชุมตามกำหนดการจะมีขึ้นวันที่ 17-18 มี.ค. 63 โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จากระดับ 1.50-1.75% สู่ระดับ 1.00-1.25% ถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน (Emergency Rate Cut) โดย “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ..!!


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

การประชุมฉุกเฉินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ย ก่อนที่การประชุมตามกำหนดการจะมีขึ้นวันที่ 17-18 มี.ค. 63 โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จากระดับ 1.50-1.75% สู่ระดับ 1.00-1.25% ถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน (Emergency Rate Cut) โดย “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ..!!

ถือเป็นการปรับลดดอกเบี้ยนอกรอบการประชุมเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่วิกฤติตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ช่วงปี 2551 แม้การผ่อนคลายนโยบายการเงินจะส่งผลดีต่อบรรยากาศทางเศรษฐ กิจระยะสั้น แต่ด้วยความไม่แน่นอนและความผันผวนยังมีอยู่ จึงเกิดคำถามตามมาว่า การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้จะเพียงพอหรือไม่..?

ว่าด้วยเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน (Emergency Rate Cut) ของสหรัฐฯ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว วันที่ 22 ม.ค. 51 (ก่อนจะมีการประชุมตามกำหนดการปกติวันที่ 29-30 ม.ค. 51) โดยการประชุมฉุกเฉินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลง 0.75% จากระดับ 4.25% สู่ระดับ 3.50% และปรับลดอัตราดอกเบี้ย Discount rate ลง 0.75% เช่นกัน จากนั้นมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินอีก 2 ครั้งช่วงปีเดียวกัน เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯให้รอดพ้นจากความเสี่ยงช่วงขาลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่มีเพิ่มสูงขึ้นขณะนั้น..!!

จากปรากฏการณ์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินของธนาคารกลางสหรัฐ วันที่ 3 มี.ค. 63 ที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารกลางฮ่องกง มีมติประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% จากระดับ 2.00% สู่ระดับ 1.50% ตามทันที

ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางอื่น ๆ ทั่วโลกมีการปรับลดดอกเบี้ยเช่นกัน  อาทิ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.5% (สวนทางกับตลาดที่คาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ 0.75%) ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.50% เพื่อรองรับผลกระทบจากโควิด-19 นั่นเอง..

จึงเป็นโจทย์ต่อเนื่อง..มาที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะกำหนดทิศทางอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขดอกเบี้ยโลกเป็นขาลง เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัว จากผลกระทบไวรัสโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยว, การค้าระหว่างประเทศ และการบริโภคในประเทศชะลอตัว

สัญญาณบอกเหตุที่เห็นชัดล่าสุด จากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีการปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2563 (รอบไม่ถึงเดือน) ลงมาอยู่ที่ 1.5-2.0% จากเดิมคาดไว้เมื่อช่วงก.พ. 63 อยู่ที่ 2.0-2.5% จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายเป็นวงกว้างทั้งต่อภาคธุรกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการผลิต..

ที่สำคัญผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทย ช่วงเดือนม.ค. 63 เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวลงแทบทุกรายการ ยิ่งกว่านั้นสถานการณ์ช่วงเดือนก.พ.-เม.ย. 63 จะยิ่งสะท้อนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีขึ้นวันที่ 25 มี.ค. 63 จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มีความจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้ง แม้กนง.เพิ่งจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 63 ที่ผ่านมาก็ตาม มีการประเมินกันว่าครั้งนี้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เหลืออยู่ที่ระดับ 0.75% ถือเป็นตัวเลขต่ำสุดเป็นประวัติการณ์..!!

ภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจแบบนี้..หวังว่าธปท.จะยอมรับและอยู่กับความเป็นจริง มากกว่ารักษาหน้าตัวเอง…

Back to top button