บรรเทา(ซ้ำเติม)เศรษฐกิจ

หลังตั้งตารอดูมาตรการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจ อันเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากรัฐบาล ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบชุดมาตรการดังกล่าว ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางคำถามตามมาเช่นกันว่ามาตรการนี้แก้ตรงจุดหรือไม่..หรือยิ่งแก้ยิ่งมัดหรือไม่


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

หลังตั้งตารอดูมาตรการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจ อันเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากรัฐบาล ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบชุดมาตรการดังกล่าว ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางคำถามตามมาเช่นกันว่ามาตรการนี้แก้ตรงจุดหรือไม่..หรือยิ่งแก้ยิ่งมัดหรือไม่

เริ่มตั้งแต่มาตรการช่วยเหลือตลาดทุน โดยให้ผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) นำไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมอีก 200,000 บาทสำหรับเงินลงทุนระยะเวลา ตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 63 จากเดิมนั้น กำหนดให้หักลดหย่อนได้เพียง 200,000 บาท รวมเป็น 400,000 บาท

ดูแล้วมาตรการนี้อาจดูเหมือนแก้ไม่ตรงจุด แน่นอนการเพิ่มเงินลดหย่อน อาจเป็นแรงจูงใจได้ระดับหนึ่ง แต่เงื่อน ไขหลักอยู่ที่การถือครอง 10 ปี ที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะการลดหย่อนพิเศษเกิดขึ้นแค่ครั้ง แต่นักลงทุนต้องแบกรับความเสี่ยงไปถึง 10 ปี

มาตรการทางการเงิน เริ่มด้วย 1)มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยมีการเตรียมวงเงินไว้ 150,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำระดับ 2% ระยะเวลา 2 ปี วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อรายมาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาการชำระหนี้

2)มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งผ่อนปรนหลักเกณฑ์สินเชื่อสถาบันการเงินเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน 3)มาตรการเสริมจากสำนักงานประกันสังคม โดยเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไว้ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3% ระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้กู้แก่ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประกันสังคม

ถือเป็นแค่มาตรการต่อลมหายใจ แต่ไม่ได้ช่วยให้หายใจโล่งขึ้น เพราะยังไงก็เป็นหนี้อยู่เช่นเดิม แถมอาจเป็นการกระตุ้นการสร้างหนี้ใหม่..นั่นหมายถึงการก่อภาระหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต..

มาตรการทางภาษี  เริ่มด้วย 1)มาตรการคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% โดยมีผลตั้งแต่เดือนเม.ย. จนถึงเดือนก.ย. 63 รอบปีภาษี 2563 2)มาตรการลดภาระดอกเบี้ยจ่าย ของผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการให้นำไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า 3)มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยนำรายจ่ายค่าจ้างมาหักลดหย่อนได้ 3 เท่าในการคำนวณภาษีเงินได้ 4)การเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศให้เร็วขึ้น

สำหรับมาตรการนี้..ดูเหมือนดีและตรงเป้าบางจุด แต่มีบางเรื่องอย่างกรณีเร่งคืน VAT ให้เร็วขึ้น แต่ต้องจ่ายเต็มจำนวนอยู่ดี เพียงแค่ได้เงินคืนเร็วเท่านั้นเอง

ส่วนมาตรการอื่น ๆ เริ่มด้วย 1)มาตรการบรรเทาการจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ รวมถึงการคืนเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้า 2)กองทุนประกันสังคม โดยให้ลดการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ทั้งส่วนนายจ้างและลูกจ้างจาก 5% เหลือ 0.1% 3)มาตรการบรรเทาภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ

กรณีการปรับลดค่าไฟฟ้าและคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า..ถือว่าสมเหตุสมผลยามวิกฤติเช่นนี้ แต่น่าเป็นห่วงเรื่องการลดส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เพราะมองได้ 2 มิติ มิติแรกผู้ประกอบการและผู้ประกันได้ประโยชน์ ในทางกลับกัน มองอีกมิตินั่นหมายถึงเป็นการบั่นทอนเงินสะสมในกองทุนประกันสังคมหรือไม่.?

เอาเป็นว่าถือเป็นเจตนารมณ์ที่ดีกับการออกมาตรการบรรเทาฯ..แต่เสียดาย “มาตรการภาษี” ดูเหมือนใช้ยาอ่อนเกินไป..นี่ถ้าภาษีนิติบุคคลลงมาเหลือ 10-15% รับรองได้เลยว่า “ยาแรง..ตรงจุด” แน่นอน..!!

Back to top button