ซีพี – เทสโก้ อนาคตร้านสะดวกซื้อจะไปทางไหน

Cap & Corp Forum การประกาศเข้าซื้อกิจการของเทสโก้ ( …


Cap & Corp Forum

การประกาศเข้าซื้อกิจการของเทสโก้ (ประเทศไทย) และ เทสโก้ (มาเลเซีย) ของเครือซีพี เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งจากนักลงทุนและผู้บริโภค อย่างไรก็ตามธุรกรรมครั้งนี้ยังต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของไทยเสียก่อน แต่ในส่วนของมาเลเซียไม่มีปัญหาในเรื่องกฎหมายแข่งขันทางการค้าเนื่องจากกฎหมายแข่งขันทางการค้าของประเทศมาเลเซียไม่ครอบคลุมถึงประเด็นการซื้อกิจการและการควบรวมกิจการ นับว่าเป็นกฎหมายแข่งขันทางการค้าสมัยใหม่เพียงไม่กี่ประเทศที่ยกเว้นเรื่องการควบรวมกิจการ เข้าใจว่าคงเป็นนโยบายของประเทศมาเลเซียที่ต้องการส่งเสริมการควบรวมกิจการเพื่อให้ธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

การซื้อกิจการครั้งนี้ มีมิติด้านการแข่งขันทางการค้าอยู่หลายประการ เนื่องจากเครือซีพีประกอบธุรกิจและจะเข้าไปเป็นผู้ประกอบธุรกิจในหลาย ๆ ตลาดที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับไฮเปอร์มาเก็ต ซูเปอร์มาเก็ต และร้านสะดวกซื้อ แต่บทความนี้ผู้เขียนขอนำเสนอเฉพาะมิติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบการแข่งขันที่อาจจะเกิดขึ้นในธุรกิจร้านสะดวกซื้อเท่านั้น (Convenience store)

ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจที่สำคัญอยู่ 4 รายประกอบด้วย 7-Eleven, Tesco Express, Familymart และ Big C Mini โดยแต่ละรายมียอดเงินขายและส่วนแบ่งตลาด ดังนี้

เฉพาะในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven และ Tesco Express ถือว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่แข่งขันอยู่ในตลาดเดียวกัน การเข้าซื้อกิจการของเครือซีพีในตลาดนี้จึงถือได้ว่าเป็นการรวมธุรกิจในแนวราบ (Horizontal merger) ทำให้ภายหลังการรวมธุรกิจเครือซีพีจะมีส่วนแบ่งในตลาดร้านสะดวกซื้อเท่ากับร้อยละ 86 ซึ่งถือเป็นส่วนแบ่งตลาดที่สูงมาก เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจรายที่ 3 นั้น มีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น

สมมติว่าในกรณีนี้ “ตลาด” ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 หมายถึงตลาดธุรกิจร้านสะดวกซื้อ และข้อมูลส่วนแบ่งตลาดและยอดขายเป็นไปตามตาราง ทั้ง 7-Eleven และ Tesco Express จะเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเรื่องหลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด พ.ศ. 2561 การซื้อกิจการครั้งนี้ ในส่วนตลาดธุรกิจร้านสะดวกซื้อจึงเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด และภายหลังการซื้อกิจการ (Post merger) จะส่งผลดังนี้

(1) ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดที่เป็นรายใหญ่ลดลงจาก 4 เหลือ 3 เท่านั้น

(2) ผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดในสายตาของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าจะเหลือเพียงรายเดียว คือ “7-Eleven และ Tesco Express” ซึ่งตามกฎหมายจะต้องถูกนับส่วนแบ่งตลาดและยอดเงินขายรวมกันแม้ว่าจะแยกความเป็นนิติบุคคลก็ตาม เนื่องจากตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด พ.ศ. 2561 กำหนดให้การนับส่วนแบ่งตลาดและยอดเงินขายของผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด ให้นับรวมส่วนแบ่งตลาดและยอดเงินขายในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งหรือบริการใดบริการหนึ่งของบรรดาผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการด้วย

ดังนั้น การซื้อกิจการระหว่าง CP และ Tesco น่าจะถือได้ว่าเป็นการรวมธุรกิจที่ก่อให้เกิดผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตการรวมธุรกิจ พ.ศ. 2561 ซึ่งในการขออนุญาตรวมธุรกิจต้องให้ข้อมูลและขออนุญาตตามแบบที่กำหนด โดยเฉพาะในส่วนของการประเมินผลกระทบต่อการแข่งขันภายหลังการรวมธุรกิจในประเด็นดังต่อไปนี้

(1) การกระจุกตัวในตลาด

(2) การเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่และการขยายการผลิตของคู่แข่งขันในตลาด

(3) ผลกระทบต่อการแข่งขันจากผู้ประกอบธุรกิจที่รวมธุรกิจ (Non–Coordinated Effect) อันได้แก่ผลกระทบที่เกิดจากผู้ประกอบธุรกิจที่รวมธุรกิจ (Merged Entity) สามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นจากการขึ้นราคาหรือลดคุณภาพของสินค้าเนื่องจากการแข่งขันที่ลดลง

(4) ผลกระทบต่อการแข่งขันที่เกิดจากการร่วมมือกัน (Coordinated Effect) ซึ่งหมายถึงผลกระทบที่เกิดจากการรวมธุรกิจซึ่งอาจเพิ่มความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะร่วมมือกันขึ้นราคาสินค้าภายหลังการรวมธุรกิจ

(5) ผลกระทบต่อประโยชน์โดยรวมทางเศรษฐกิจและผู้บริโภค

โดยในการพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าต้องพิจารณาจากปัจจัย ดังต่อไปนี้

(1) ความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ

(2) ผลกระทบความเสียหายต่อเศรษฐกิจ

(3) ผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม

ภายหลังการซื้อกิจการ ด้วยจำนวนของร้านสะดวกซื้อของ 7-Eleven และ Tesco Express อาจทำให้ในหลาย ๆ พื้นที่ การเข้ามาหรือเพิ่มจำนวนสาขาของคู่แข่งรายอื่น ๆ ทำได้ยากมากขึ้น อาจทำให้เกิดการผูกขาดได้ อาทิ ทั้งหมู่บ้านมีเพียง 7-Eleven และ Tesco Express เท่านั้น จากเดิมที่เคยมีผู้ประกอบธุรกิจสองรายแข่งขันกัน ก็กลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวภายหลังการซื้อกิจการ เป็นต้น

ผู้เขียนเห็นว่า ในการพิจารณาอนุญาตให้รวมธุรกิจครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ควรพิจารณาตลาดที่เกี่ยวข้องโดยการแยกธุรกิจและการแข่งขันให้ชัดเจน โดยเฉพาะผลกระทบในแง่ตลาดในเชิงภูมิศาสตร์นั้นอาจมีความแตกต่างกัน เนื่องจากภายหลังการซื้อกิจการ บางพื้นที่ยังอาจมีการแข่งขัน แต่บางพื้นที่อาจไม่เหลือการแข่งขันเลยก็ได้ เป็นต้น และผู้เขียนเห็นว่าในการพิจารณาอนุญาตนั้น คณะกรรมการฯ ไม่จำเป็นที่ต้องอนุญาตทั้งหมดและอาจจะอนุญาตเป็นบางตลาดก็ได้ อีกทั้งสามารถกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อเยียวยาปัญหาสภาพการแข่งขันในอนาคตได้ การกำหนดขอบเขตตลาดที่เกี่ยวข้อง (Relevant market) และการกำหนดมาตรการเยียวยาปัญหาสภาพการแข่งขัน (Remedies) จึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดอนาคตร้านสะดวกซื้อของไทยในอนาคตเลยทีเดียว ว่าอนาคตตลาดนี้จะมีการแข่งขันหรือจะกลายเป็นตลาดที่ถูกผูกขาดโดยผู้ประกอบธุรกิจรายเดียว

ประการสำคัญระหว่างความจำเป็นทางธุรกิจและผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม คณะกรรมการฯ จะให้น้ำหนักส่วนไหนมากกว่ากัน

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Fulbright Hubert H. Humphrey Fellowship

American University Washington College of Law

Back to top button