โควิด..ขวิดเศรษฐกิจ.!

ผลพวงผลกระทบไวรัสโควิด-19 ปรากฏเด่นชัด จากการแทรกซึมสู่จำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นและระบาดเข้าสู่เศรษฐกิจไทย (COVID Crisis) สะท้อนเป็นภาพเด่นชัด จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่มีแนวโน้มหดตัวและถดถอยอย่างเห็นได้ชัด เพราะทุกตัวเลขที่นำมาสู่สูตรการคำนวณ GDP มีการเปลี่ยนแปลงเชิงลบแทบทั้งสิ้น


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

ผลพวงผลกระทบไวรัสโควิด-19 ปรากฏเด่นชัด จากการแทรกซึมสู่จำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นและระบาดเข้าสู่เศรษฐกิจไทย (COVID Crisis) สะท้อนเป็นภาพเด่นชัด จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่มีแนวโน้มหดตัวและถดถอยอย่างเห็นได้ชัด เพราะทุกตัวเลขที่นำมาสู่สูตรการคำนวณ GDP มีการเปลี่ยนแปลงเชิงลบแทบทั้งสิ้น

เริ่มจากตัว C (Consumption) หรือ มูลค่าการบริโภคภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป รวมค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลแทบทั้งหมด มีการปรับตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนมีการประเมินกันว่าอาจได้เห็นตัวเลข “ติดลบ” ช่วงเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงเมษายน และอาจติดลบต่อเนื่องได้อีก หากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่คลี่คลาย..!!

กระทบมาสู่ตัว I (Investment) หรือมูลค่าการลงทุนจากภาคเอกชนในสินค้าทุน เช่น การก่อสร้างโรงงานใหม่ การซื้อซอฟต์แวร์ การซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อโรงงานต่าง ๆ แน่นอนว่า..เมื่อการบริโภคหรือความต้องการลดลง ย่อมไม่คุ้มค่าที่เอกชนต้องลงทุนช่วงนี้ นั่นจึงทำให้ “การลงทุนภาคเอกชน” ทรงตัวหรือชะงักงันลงไป

ส่วนการหวังพึ่งพาตัว G (Government Spending) หรือค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาลที่ใช้ซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย ที่สำคัญคือเม็ดเงินลงทุนของรัฐ ผ่านโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ แทบไม่เกิดขึ้นเลยช่วงนี้ แม้ว่าพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2563 จะมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม

อีกหนึ่งความหวังคือตัว X (Export) หรือมูลค่าการส่งออก มีการชะลอตัวลงตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา และด้วยผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายสู่ทั่วโลก จนมีการปิดพรมแดนประเทศต่าง ๆ ทำให้เป็น “ตัวเร่ง” ให้ตัวเลขส่งออกย่ำแย่มากขึ้นอีก เห็นได้ชัดจากตัวเลขการส่งออกติดลบที่เป็นอยู่ขณะนี้

ส่วนตัว M (Import) หรือ มูลค่าการนำเข้า ที่มีสภาพไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าสินค้าทุนหรือสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวลง จนได้เห็นเป็นสภาพ “ตัวเลขติดลบ” แล้วเช่นกัน

จากบริบทดังกล่าว ทำให้ตัวเลขการเติบโตของ GDP จึงมีความเสี่ยงสู่การเติบโตถดถอย จนอาจนำไปสู่ GDP ติดลบ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจัยตอกย้ำเรื่องนี้เห็นได้ชัดจากตัวเลขการส่งออกและนำเข้าที่ “ติดลบ” มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

โดยภาคเอกชนชะลอการนำเข้าสินค้า (จากการบริโภคครัวเรือนหดตัว) นักท่องเที่ยวไม่เดินทางเข้าไทยกระทบการจับจ่ายใช้สอย, การปิดสถานบันเทิง สถานที่ชุมชนและปิดห้างสรรพสินค้า ที่สำคัญคือ มาตรการคลังของรัฐบาล ยังไม่มีมาตรการแรงพอจะกระตุ้นหรือพยุงเศรษฐกิจ..จึงทำได้เพียงแค่ “ประคองเศรษฐกิจ” เท่านั้น

เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนหดตัว จากนักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุน หลังจากหลายประเทศปิดประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั่นเอง

อีกปัจจัยสอดแทรกคือ “สงครามราคาน้ำมัน” ที่เป็นต้นเหตุให้ราคาน้ำมันดิบโลก ปรับตัวต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากช่วงปลายปีอยู่ที่ระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กลายเป็นซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ให้เกิดความถดถอยมากยิ่งขึ้น

จากปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้หลายสำนักหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาปรับประมาณการ “เชิงลบ” ต่อตัวเลขการเติบโต GDP ของไทย ณ ช่วงเดือนมีนาคมนี้ เริ่มจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินการเติบโต 2.8% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินการเติบโต 2.8% สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประเมินการเติบโต 2.0% สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินการเติบโต 1.8%

ขณะที่หน่วยงานเอกชน อย่างศูนย์วิจัยเศรษฐกิจไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินการเติบโต -0.30% ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินการเติบโต 0.50% ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินการเติบโต -0.80% ส่วนหน่วยงานระดับโลก อย่างเช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินการเติบโต 3.0% และธนาคารโลก ประเมินการเติบโต 2.7%

นี่เป็นเพียงตัวเลขเบื้องต้น ที่สะท้อนให้เห็นถึง “ผลกระทบเชิงลบ” จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ ทำให้แผลที่เกิดจากปรากฏการณ์ “โควิด..ขวิดเศรษฐกิจ” เป็นเพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้น..!!

Back to top button