ส่องหุ้นรับผลดี-เสีย “กทม.-ปริมณฑล” ปิดห้าง 22 วัน สกัดโควิด-19 ลามหนัก

ส่องหุ้นรับผลดี-เสีย "กทม.-ปริมณฑล" ปิดห้าง 22 วัน สกัดโควิด-19 ลามหนัก


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลจากบทวิเคราะห์ ที่รวบรวมหุ้นในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบและเชิงบวก จากมาตรการ กทม.ปิดศูนย์การค้า เป็นเวลา 22 วัน นับตั้งแต่ 22 มี.ค.-12เม.ย.2563 โดยมองว่าหุ้นในกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้า บริการ โรงภาพยนตร์ จะได้รับผลกระทบดังกล่าว ส่วนหุ้นในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ผู้ผลิตอาหาร จะได้รับผลประโยชน์จากการอนุญาตให้เปิดบริการในโซน Super Market เท่านั้น และคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการกักตุนสินค้าอาหารของประชาชนอีกด้วย

โดย บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (23 มี.ค.) ว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2563 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครออกประกาศคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพิ่มเป็น 26 ประเภท เป็นระยะเวลา 22 วัน (22 มี.ค. – 12 เม.ย.) ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ให้เปิดแค่โซน super market/ ร้านยา/ธนาคาร  ร้านขายอาหารและร้านสะดวกซื้อ ให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้นห้ามนั่งกินที่ร้าน สำหรับร้านอาหารในโรงแรมให้บริการเฉพาะลูกค้าที่เข้าพัก ทั้งนี้ ยังให้ปิดตลาดและตลาดนัดเหลือแค่ร้านขายของเพื่ออุปโภคบริโภค ของสด ของแห้ง รวมถึง ปิดร้านเสริมสวย คลีนิคเสริมความงาม และ ปิดศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรศการ

นอกจากนั้น 5 จังหวัดปริมณฑล คือ สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นครปฐม, นนทบุรี และปทุมธานี มีการออกประกาศให้ใช้มาตรการปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเช่นเดียวกับกทม.

โดยการออกมาตรการปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 22 วัน เพิ่มเติมนี้ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) คาดว่าจะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นไทย  เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงและหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้น  มีโอกาสมากที่จะเห็นการใช้มาตรการนี้กับจังหวัดอื่นเพิ่มเติม หรือหากสถานการณ์เลวร้ายลง มีโอกาสที่จะเห็นการใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

สำหรับมาตรการปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ที่กรุงเทพฯ และ 5 จังหวัด เป็นระยะเวลา 22 วันนี้ จะส่งผลกระทบเป็นลบเป็นส่วนใหญ่กับหลายธุรกิจ เนื่องจากรายได้ที่ลดลง อย่างไรก็ตามมีบางธุรกิจที่จะได้รับผลบวกจากมาตรการนี้เช่นกัน

โดยธุรกิจและบริษัทที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ คือ 1) ศูนย์การค้า & ห้างสรรพสินค้า (SF, PLAT, CRC, CPN, MBK, AWC) 2) ร้านขายวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่งบ้าน (DOHOME, HMPRO, GLOBAL) 3) ศูนย์แสดงสินค้า+ศูนย์ประชุม (IMPACT) 4) ร้านอาหารในห้าง (AU, ZEN, M, OISHI, SNP, CENTEL, MINT)

รวมถึง 5) ร้านค้าในห้าง (COM7, JMART, IT, MC, BEAUTY, TKN) 6) โรงภาพยนตร์ (MAJOR) 7) ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (BEM, BTS) 8) ปั๊มน้ำมัน (PTG, PTT, ESSO, BCP)

ทั้งนี้หุ้นที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบต่อสัดส่วนกำไรสุทธิมากสุด คือ SF, PLAT, CRC, DOHOME, AU, ZEN, M, MAJOR, JMART, COM7, BEAUTY

ส่วนธุรกิจและบริษัทที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกคือ 1) ซูเปอร์มาร์เก็ต+ร้านสะดวกซื้อ (BJC, MAKRO, CPALL) 2) ผู้ผลิตอาหาร (CPF, TU, ASIAN, TFMAMA) 3) ICT (ADVANC, TRUE, JAS, DTAC) 4) ประกัน (TQM)

Back to top button