“ครม.” ไฟเขียวแพ็คเกจเยียวยาปชช.-กระตุ้นศก.ระยะ 3 ครอบคลุมทุกมิติ ยาว 6 เดือน

ที่ประชุม ครม.นัดพิเศษ ไฟเขียวแพ็คเกจเยียวยาประชาชน-กระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะ 3 ครอบคลุมทุกมิติ ยาว 6 เดือน


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษในวันนี้ (3 เมย.63)​ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจระยะ 3 ชุดใหญ่ที่ครอบคลุมทุกมิติในระยะ 6 เดือน แบ่งมาตรการเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่ม 1 เยียวยาดูแลภาคประชาชนและธุรกิจส่วนที่ยังขาดอยู่เพื่อให้ครอบคลุมครบถ้วน

กลุ่ม 2 ดูแลให้มีกิจกรรมเศรษฐกิจในช่วงที่ทุกอย่างติดขัด เพื่อไม่ให้เศรษกิจไทยหยุดชะงักในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า

กลุ่ม 3 ดูแลภาคเศรษฐกิจการเงิน เพราะทุกครั้งที่เกิดปัญหากับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงย่อมส่งผลกระทบไปถึงภาคการเงินด้วย แม้ว่าขณะนี้ทุกอย่างยังไม่มีปัญหา แต่เพื่อความไม่ประมาท รัฐบาลจึงได้คิดมาตรการเพื่อให้ครอบคลุมครบถ้วน

นายสมคิด ยืนยันว่า ชุดมาตรการที่ออกมารอบนี้จะมีความครอบคลุมในทุกมิติ โดยมาตรการทั้ง 3 ส่วนนี้ มีทั้งการดูแลเยียวยาประชาชน, การดูแลเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าไม่ให้หยุดนิ่ง และการรักษาระบบเศรษฐกิจเพื่อให้กลไกทุกอย่างสามารถเดินหน้าไปได้ ทั้งหมดนี้วงเงินที่ใช้อาจจะมีความใกล้เคียงกับรัฐบาลของประเทศอื่นๆ ได้ดำเนินการ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10% ของ GDP

อย่างไรก็ดี วงเงินในการทำมาตรการทั้งหมดนี้ในทางปฏิบัติแล้วส่วนหนึ่งจะต้องนำมาจากงบประมาณรายจ่ายของประเทศ เพราะต้องการให้มีการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในการแก้ปัญหาให้แก่บ้านเมือง คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 10% ของจำนวนงบประมาณในส่วนที่สามารถนำมาใช้ได้ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กำชับมา

อีกส่วนหนึ่งจะมาจากการกู้ยืมโดยกระทรวงการคลัง เพื่อนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจและดูแลประชาชน และจากการออก พ.ร.ก.ของธนาคารแห่งประเทศไทย

“ทั้งหมดนี้ จะเป็นเม็ดเงินจำนวนเท่าไร คงต้องรอให้ผ่าน ครม.ก่อน ซึ่งต้องเจรจากับทางสำนักงบประมาณด้วย เชื่อว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และภาคธุรกิจได้ว่าเราจะก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปได้ ภาคเศรษฐกิจจริงจะต้องคู่กับการเงินเสมอ ดังนั้นต้องไม่ปล่อยให้มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นในอนาคต เรายินดีจะทำให้ครอบคลุมและป้องกันไว้ก่อนเพื่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย” นายสมคิด ระบุ

นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษวันนี้ ยังได้มีการหารือถึงการให้แต่ละกระทรวงแบ่งงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ราว 10% มาใช้ช่วยแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทุกกระทรวงแสดงความเห็นด้วยกับแนวทางนี้ ส่วนวงเงินงบประมาณจะเป็นเท่าใดนั้นจะต้องมีการหารือในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กล่าวว่า ได้มีการจัดชุดมาตรการไว้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นการดูแลภาคประชาชน, กลุ่มสอง ดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และกลุ่มสามการดูแลระบบการเงิน

1. การดูแลภาคประชาชน จะดูแลในกลุ่มเกษตรกรที่เดิมอาจยังไม่ได้รับการดูแล นอกจากนี้ จะดูแลในส่วนของลูกจ้าง ทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคม และนอกระบบประกันสังคม ที่ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งได้เริ่มมีมาตรการช่วยเหลือออกไปแล้ว รวมถึงการลดภาระการผ่อนชำระสินเชื่อเพิ่มเติมจากที่ ธปท.ให้ธนาคารพาณิชย์ได้ดำเนินการไปแล้ว นั่นคือสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non Bank) เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากมีการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

2. การดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหมายรวมถึงงบประมาณที่จะนำมาใช้ด้านสาธารณสุข เพื่อการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการดูแลเศรษฐกิจในพื้นที่ (Local Economy) เนื่องจากมีแรงงานส่วนหนึ่งต้องกลับสู่ภูมิลำเนา ดังนั้นจึงจะต้องมีชุดมาตรการเพื่อช่วยเสริมสร้างอาชีพ สร้างทักษะใหม่ๆ ให้ประชาชนในชุมชน ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและเศรษฐกิจในประเทศไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะดูแลเรื่องการลงทุนของภาครัฐ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมในพื้นที่ทั่วประเทศ

3. การดูแลผู้ประกอบการ ที่มีภาระสำคัญจากการกู้ยืม ดังนั้นจึงจะต้องทำให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งในส่วนนี้ ธปท.จะมีชุดมาตรการออกมาเพิ่มเติมจากมาตรการระยะ 1 และ 2

Back to top button