การกำกับทุนนิยมสอดแนม

การสอดส่องข้อมูลของประชาชนไม่เพียงรัฐเท่านั้นที่สามารถทำได้ กลับพบว่าบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อาจเป็นผู้ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลมากกว่าหน่วยงานของรัฐเสียอีก


Cap & Corp Forum

การสอดส่องข้อมูลหรือการใช้มาตรการเฝ้าระวังโดยรัฐเป็นประเด็นที่อาจมีการพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์มาเป็นระยะเวลายาวนานโดยนักสิทธิมนุษยชน และมีการตรากฎหมายและตีความกฎหมายเพื่อกำหนดเงื่อนไขในการจำกัดอำนาจในการใช้มาตรการเฝ้าระวังหรือสอดแนมข้อมูลของปัจเจกชนโดยรัฐ โดยเฉพาะในประเทศตะวันตกที่ให้คุณค่าของความเป็นส่วนตัวมากกว่าในสังคมตะวันออก

แต่ในปัจจุบัน คงต้องยอมรับว่าการสอดส่องข้อมูลของประชาชนไม่ได้มีเพียงแต่รัฐเท่านั้นที่สามารถกระทำได้ ในความเป็นจริงกลับพบว่าบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อาจจะเป็นผู้ที่มีและครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลของเรามากกว่าหน่วยงานของรัฐเสียอีก และประการสำคัญบริษัทเหล่านี้ไม่ถูกจำกัดความสามารถ (อำนาจ) ภายใต้เขตแดนแห่งรัฐใดรัฐหนึ่งเท่านั้น โดยนักวิชาการท่านหนึ่งที่ออกมาพูดเรื่องนี้อย่างเข้มข้น คือ Shoshana Zuboff (Harvard Business School) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Age of Surveillance Capitalism: The Fight for a Human Future at the New Frontier of Power (2019) โดยเธอกล่าวว่า “Surveillance Capitalism” หรือ “ทุนนิยมจากการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล” หรือ “ทุนนิยมสอดแนม” (ปรีดี บุญซื่อ) เป็นพฤติกรรมของบริษัทเทคโลยีขนาดใหญ่ที่แสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจจาก “พฤติกรรมส่วนเกิน” (Behavioral surplus) ของผู้ใช้บริการชั้นต้นแบบให้เปล่าของบริษัทเทคโนโลยี อาทิ  Google Search, YouTube หรือ Facebook เป็นต้น

Shoshana Zuboff เห็นว่าข้อมูลส่วนบุคคลหรือพฤติกรรมของผู้ใช้บริการเปรียบเสมือน “วัตถุดิบ” (Raw material) ของบริษัทเทคโนโลยีที่ถูกป้อนเข้าไปในเครื่องจักรอัจฉริยะและถูกประมวลผลออกมาเป็น “พฤติกรรมการบริโภคในอนาคต” (Prediction products) ซึ่งผลผลิตในอนาคตนี้จะถูกซื้อขายใน “ตลาดซื้อขายพฤติกรรมล่วงหน้า” (Behavioral futures markets) โดยลูกค้าหรือผู้บริโภคที่แท้จริงของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้คือบริษัทโฆษณาต่าง ๆ หรือเจ้าของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเข้าถึงพฤติกรรมการบริโภคในอนาคตนั้น ดังนั้น ยิ่งบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าถึงพฤติกรรมการบริโภคจากการที่เราเข้าใช้บริการให้เปล่าต่าง ๆ มากเท่าไหร่ จำนวนข้อมูลที่มากขึ้นก็จะทำให้บริษัทสามารถคาดการณ์พฤติกรรมการบริโภคในอนาคตของเรา ๆ ท่าน ๆ ได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น ๆ “Targeted advertising” จึงจะสามารถประสบความสำเร็จได้ ทำให้สามารถคัดเลือกกลุ่มผู้ชมสำหรับโฆษณาต่าง ๆ สามารถสร้างกรอบรูปแบบการบริโภค หรือแม้แต่กำหนดและชี้นำความต้องการในการบริโภคได้เลยทีเดียว

ซึ่งแนวโน้มการเข้าถึงพฤติกรรมของผู้ใช้บริการของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่าง Google, Facebook, Amazon, Apple หรือ Samsung จะมีความสามารถเพิ่มขึ้นตามเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่นำมาใช้ในการเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลและพฤติกรรมการบริโภคทั้งจากข้อมูลการพิมพ์ค้นหา การใช้สัญลักษณ์ในการสื่ออารมณ์ การระบุพิกัด การใช้เทคโนโลยีเสียง (Voice assistance) หรือจากภาพถ่ายหรือภาพวิดีโอ หรือจากการจดจำใบหน้า (สมาร์ททีวีบางรุ่นมีระบบกล้องวิดีโอบันทึกภาพและเสียงผู้ใช้งาน) เป็นต้น การเข้าถึงพฤติกรรมและข้อมูลเหล่านี้ยิ่งทำให้ความสามารถในการสอดส่องคาดการณ์ และพยากรณ์ “พฤติกรรมของผู้ใช้บริการ” มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นตามลำดับ จนมีการกล่าวว่าบริษัทเหล่านี้อาจรู้ความต้องการของเรามากกว่าตัวเราเสียอีก หรือแม้แต่รู้จักเราดีกว่าคนในครอบครัวเป็นต้น

กรณีที่เคยเป็นข่าวคราวใหญ่โตครั้งหนึ่งในปี 2555 คือ กรณีของห้างสรรพสินค้า Target ในสหรัฐอเมริกาที่ระบบของบริษัทสามารถประมวลผลข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคของเยาวชนคนหนึ่งและสามารถทราบได้ว่าเธออยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ และโดยที่เจ้าตัวยังไม่ได้เปิดเผยการตั้งครรภ์ให้คนในครอบครัวรับทราบ แต่ Target ได้เปิดเผยข้อมูลนั้นต่อครอบครัวของเธอโดยที่เธอไม่ได้ให้ความยินยอม ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตต่อมาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กรธุรกิจที่ใช้และแสวงหาประโยชน์จากความสามารถในการคาดการณ์พฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างไม่เหมาะสม

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ยังไม่มีระบบกฎหมายของรัฐบาลกลางในการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทั่วไป ระบบที่ถูกใช้มาอย่างยาวนาน คือ Privacy Notice/Privacy Policy โดยการที่บริษัทต่าง ๆ จะออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการว่ามีอย่างไรและบริษัทจะทำอะไรกับข้อมูลเหล่านั้นได้บ้าง ซึ่งในความเป็นจริงผู้ใช้บริการมักไม่ได้อ่านรายละเอียดต่าง ๆ ของข้อกำหนดเหล่านั้น หรือถึงอ่านก็ยากที่จะเข้าใจความหมายที่แท้จริงได้ และหากไม่ตกลงยอมรับก็จะไม่ได้รับบริการนั้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายที่จะใช้ประโยชน์จากการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการและนำไปขายต่อให้กับบริษัทโฆษณาโดยไม่มีกรอบข้อจำกัดตามสัญญาหรือกฎหมาย สร้างความเติบโตทางธุรกิจอย่างมากมายให้กับบริษัทที่เป็นเจ้าของข้อมูลของผู้บริโภค เว้นแต่การไม่ปฏิบัติตาม Privacy Notice/Privacy Policy ของบริษัทที่ประกาศไว้ (ฝ่ายเดียว) แบบนี้ก็อาจจะเข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภคซึ่งอาจทำให้ Federal Trade Commission เข้ามามีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อเอาผิดกับผู้ให้บริการได้

ที่ผ่านมามีการถกเถียงในทางวิชาการที่อย่างกว้างขวางว่าระบบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลควรจะไปในทิศทางใด ระบบกฎหมายควรจะบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีต้องชำระ “ค่าวัตถุดิบ” ซึ่งก็คือข้อมูลที่ได้ไปจากผู้ใช้บริการหรือไม่ และจะประมาณมูลค่าอย่างไร และ California Consumer Privacy Act of 2018 (CCPA) ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของรัฐแคลิฟอร์เนียเหมือนจะเป็นกฎหมายฉบับแรกที่กำหนดมูลค่าในทางทรัพย์สินให้กับข้อมูลส่วนบุคคล

ในขณะที่สหภาพยุโรป สิทธิในความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองยุโรปและกฎหมายได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ไว้อย่างชัดเจนผ่านบทบัญญัติกฎหมายของสหภาพที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ GDPR ซึ่งส่งผลให้สิทธิในความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิทธิเด็ดขาดที่บริษัทเทคโนโลยีไม่สามารถตกลงหรือกำหนดเงื่อนไขเป็นอย่างอื่น และทำให้การใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรฐานของ GDPR ของบริษัทเทคโนโลยีต้องมีความโปร่งใสและมีฐานในทางกฎหมายรองรับ อันเป็นการช่วยลดความเสียเปรียบของผู้บริโภคในการต่อรองและกำหนดเงื่อนไขของข้อตกลงที่เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

การที่ระบบกฎหมายทั่วโลกปรับตัวไปในทิศทางของ GDPR ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมสอดแนมในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการยากที่ผู้ใช้บริการจะสามารถต่อรองกำหนดหรือแก้ไขเงื่อนไขของการใช้ประโยชน์ของข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของผู้ให้บริการได้ แม้กฎหมายอาจจะสร้างภาระหรือขั้นตอนต่อผู้ให้บริการมากขึ้นและอาจจะส่งผลต่อรูปแบบการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ต้องการจำนวนข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการเรียนรู้ แต่ก็น่าเชื่อว่าผู้พัฒนาเทคโนโลยีจะสามารถปรับกระบวนการได้ในที่สุด

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Fulbright Hubert H. Humphrey Fellowship

American University Washington College of Law

Back to top button