3 หุ้น ‘พลิกวิกฤติเป็นโอกาส’

การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เร่งตัวส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาพเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ทั้งด้านท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนกุมภาพันธ์หดตัวสูง


เส้นทางนักลงทุน

เมื่อวันที่  31 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ ภาพรวมถือว่าหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สาเหตุหลักเกิดจากแรงกดดันของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่เร่งตัวขึ้นส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาพเศรษฐกิจในแทบทุกภาคส่วน ทั้งด้านการท่องเที่ยวที่พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนกุมภาพันธ์หดตัวสูงถึง (ลดลง 42% จากงวดเดียวกันของปีก่อน) โดยการหดตัวหลักจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ลดลง 85% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และคาดเดือนมีนาคมตัวเลขจะย่ำแย่กว่ากุมภาพันธ์ สะท้อนจากอัตราการจองห้องพักล่วงหน้า 3 เดือน ปรับตัวลงใกล้ระดับ 0%

ส่วนทางด้านการส่งออกพบว่ามูลค่าส่งออกรวมเดือนกุมภาพันธ์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่หากหักการส่งออกทองคำ จะกลับมาเป็นติดลบ 1.3% สะท้อนการส่งออกอ่อนแอ รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองของจีนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

ขณะที่ด้านการใช้จ่ายภาครัฐ พบว่าหดตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวแรง (Private investment index -10.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน) โดยพบว่าเครื่องชี้การลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์และหมวดก่อสร้าง หดตัวในทุกองค์ประกอบสอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอ รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่หดตัว

นอกจากนี้ด้านการบริโภค ถือว่าเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจไทยตัวเดียวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อน มีแรงหนุนจากการเร่งกักตุนซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน (Non-durable goods) จากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยสรุปสัญญาณเศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ยังอ่อนแอต่อเนื่องเช่นเดียวกับมกราคม และคาดจะอ่อนแอมากยิ่งขึ้นในเดือนมีนาคม คงเป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 คาดจะชะลอตัวลงมาก

และสะท้อนยังผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ช่วงไตรมาส 1/2563 ส่วนใหญ่อาจจะชะลอตัวไปในทิศทางสัญญาณเศรษฐกิจไทยที่หดตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

เนื่องจากบริษัทหลายแห่งต้องหยุดกิจการชั่วคราว ตามนโยบายรัฐบาลที่ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเต็มรูปแบบผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่ขอให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศปฏิบัติตามคำแนะนำของศบค. อย่างเคร่งครัด หากประชาชนร่วมแรงร่วมใจก็มั่นใจว่าจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ โดยรัฐบาลขอให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ ช่วยชาติ”

นับว่าทุกบริษัทได้รับผลกระทบทั่วหน้า แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่รูปแบบธุรกิจว่าจะมีความเสี่ยงขนาดไหน ! ถึงอย่างไรก็ยังมีกลุ่มที่รับความเสี่ยงได้สูง “พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส” และผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2563 อาจไม่กระทบมากนัก และอาจมีโอกาสทำผลงานดีขึ้นอีกด้วย  อาทิ BJC, JMT, TQM เป็นต้น

สำหรับ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ส่งผลให้ประชาชนแห่กันไปซื้อสิ้นอุปโภค บริโภค เพื่อกักตุนกันเป็นจำนวนมากในทุกสาขาของ BIGC ซึ่งส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ถือว่าเป็นบวกต่อ BJC เนื่องจากว่า ทางบิ๊กซีอยู่ในกลุ่มของ BJC โดยตรง

นอกจากนี้ผู้บริหารคาดว่า อัตรากำไรจะเพิ่มขึ้นจาก 1) ยอดขายของ Big C ที่เพิ่มขึ้น 2) การทำการตลาดที่เพิ่มขึ้น 3) การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และ 4) แผนการประหยัดต้นทุน ปีนี้มีแผนการขยาย mini Big C เพิ่มขึ้น 300 สาขา, Hypermarket 3 สาขา Market 1 สาขาและ Food Place 1 แม้ว่าการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ในช่วงไตรมาส 1 จะคงที่ แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นครึ่งหลังของปี 2563 จากการเปิดสาขาใหม่ ๆ

บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในระบบการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในจังหวะนี้บริษัทมองเป็นโอกาสเข้าไปซื้อหนี้ NPLs ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งเข้ามาเสริมในพอร์ตจากปัจจุบันมีมูลค่าหนี้บริหารในพอร์ตกว่า 1.77 แสนล้านบาท เบื้องต้นเตรียมวงเงินสำหรับเข้าไปซื้อหนี้ NPLs ประมาณ 4.5 พันล้านบาท สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ประกอบด้วย หนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน แต่บริษัทยังมุ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพของพอร์ตหนี้ที่ซื้อเข้ามาบริหารด้วย เพื่อไม่ให้กระทบกับการบริหารและจัดเก็บหนี้ในระยะถัดไป

นอกจากนี้ผู้บริหารมั่นใจต่อผลประกอบการในปีนี้  1) การลงทุนซื้อหนี้ใหม่ – บรรยากาศยังใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่การปรับใช้ TFRS 9 จะทำให้การขายหนี้ NPL จากสถาบันการเงินเร็วขึ้นเป็น Upside risk ii) การเก็บหนี้ – เบื้องต้น 2 เดือนแรกของไตรมาส 1/2563 การเก็บเงินสด (Cash collection) ยังเป็นปกติ ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาด ดังนั้นปัจจุบันบริษัทยังบริหารจัดการได้ หากสถานการณ์ไม่บานปลาย

2) ผลกระทบจากมาตรฐานบัญขีใหม่ – ไม่ส่งผลต่อกำไรในบรรทัดสุดท้าย (สุทธิเท่าเดิม) แม้จะเปลี่ยนวิธีบันทึกของรายได้และต้นทุนจากเกณฑ์เงินสด (Cash) เป็นคงค้าง (Accrual basis) แม้อัตราส่วนการเงินโดยรวมอาจเปลี่ยนแปลงบ้างสำหรับหนี้ที่มีหลักค้ำประกัน (Secured loan)

บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TQM ได้รับประโยชน์เพราะมีผู้สนใจซื้อกรมธรรม์ COVID-19 ผ่าน TQM เป็นจำนวนมาก ทำให้ TQM จะมีรายได้ค่านายหน้าที่จะเพิ่มขึ้นสูง โดยเฉพาะภายหลังวันที่ 17 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาที่ ครม.ออกมาตรการป้องกัน COVID-19 เข้มข้นขึ้น เช่น ปิดสถานที่เสี่ยงทั่วกรุงเทพฯ 14 วัน (18-31 มี.ค.) สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของการแพร่กระจาย COVID-19 ส่งผลให้ความต้องการซื้อประกัน COVID-19 ที่สูงขึ้น

ผลดังกล่าวยังคงประเมินว่ากำไรสุทธิปี 2563-2564 จะยังคงขยายตัว 12% และ 43% จากรายได้ที่โตต่อเนื่อง และ gross profit margin จะเพิ่มขึ้น โดยบริษัทได้เร่งเพิ่มจำนวนพนักงานขาย และโอกาสในการขยายธุรกิจใหม่ ๆ  ประกอบกับ TQM จะเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากความกังวลเรื่อง COVID-19 ที่แพร่กระจายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/2563 จะเพิ่มขึ้นสูง

หลักทรัพย์นำเสนอข้างต้นเป็นตัวอย่างว่าจะ “พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส” จากวิกฤติโควิด-19 หนุนให้ยอดขายเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ผลการดำเนินคงเติบโตต่อเนื่อง

Back to top button