“พาณิชย์” ชี้ช่องส่งออกไทย ชิงส่วนแบ่งตลาด จากข้อตกลงการค้า “สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น”

"กระทรวงพาณิชย์" ชี้ช่องส่งออกไทย ชิงส่วนแบ่งตลาด จากข้อตกลงการค้า "สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น"


น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลต่อประเทศไทยจากข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น (The U.S.-Japan Trade Agreement: USJTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 ว่า ในภาพรวมไทยยังสามารถแข่งขันได้ดีในสินค้าส่วนใหญ่ทั้งในตลาดญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แต่อาจเผชิญแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการไปยังตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ

สำหรับข้อตกลงการค้าโดยรวมระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นฉบับนี้ มีเป้าหมายเพื่อขยายการค้าระหว่างสองประเทศ ด้วยการลด ยกเว้น หรือกำหนดโควตานำเข้าสินค้าระหว่างกัน

โดยญี่ปุ่นจะยกเว้นภาษี หรือเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราพิเศษกว่าคู่ค้าอื่น รวมทั้งสิ้น 595 รายการ คิดเป็น 7.9% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร จำพวกเนื้อสัตว์ ข้าวสาลี ชีส ผัก ผลไม้ ข้าวฟ่าง เอทานอล ไวน์ มันฝรั่ง มากถึง 567 รายการ คิดเป็น 42.3% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรทั้งหมดจากสหรัฐฯ และเป็นสินค้าอุตสาหกรรม 28 รายการ หรือ 0.2% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมดจากสหรัฐฯ

ขณะที่สหรัฐฯ จะลด ยกเว้น หรือทยอยปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นจนเหลือ 0% จำนวน 241 รายการ คิดเป็น 5.1% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าญี่ปุ่นทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม 199 รายการ ที่เหลือเป็นสินค้าเกษตร 42 รายการ ซึ่งคิดเป็น 5.1% และ 4.4% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นในแต่ละกลุ่ม

โดยสินค้าญี่ปุ่นที่จะได้รับสิทธิพิเศษตามข้อตกลง อาทิ อุปกรณ์เครื่องจักรกล เครื่องยึด เครื่องจักรไอน้ำ รถจักรยานและส่วนประกอบ ไม้ยืนต้นบางชนิด ดอกไม้ตัด ลูกพลับ ชาเขียว และซอสถั่วเหลือง แม้ว่าข้อตกลงฉบับนี้ไม่ครอบคลุมเรื่องภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น แต่สหรัฐฯ ยืนยันว่าจะยังไม่ใช้มาตรการด้านการนำเข้าเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศตามกฎหมายมาตรา 232 กับสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนญี่ปุ่น

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในภาพรวมข้อตกลง USJTA น่าจะส่งผลให้การส่งออกระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับทั้งสองประเทศมากขึ้น และอาจส่งผลดีต่อเนื่องทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกไปยังสหรัฐฯ และญี่ปุ่นตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนอาจเป็นโอกาสให้ไทยส่งออกสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าภายใต้ข้อตกลงไปยังญี่ปุ่นมากขึ้น อาทิ สินค้าในกลุ่มเครื่องจักร เครื่องกล อุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และสินค้าในกลุ่มยางและพลาสติก

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์รายละเอียดสินค้าภายใต้ข้อตกลง USJTA สนค. ประเมินว่า ในตลาดญี่ปุ่นมีสินค้าหลายชนิดที่ญี่ปุ่นต้องการซื้อเพิ่มขึ้น จึงมีช่องว่างสำหรับสินค้าไทย หรือไทยยังได้เปรียบสหรัฐฯ จากส่วนแบ่งตลาดที่มากกว่า เช่น ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ จำพวกไส้กรอก เนื้อสัตว์ปีกเพื่อการบริโภค พืชผักแช่แข็ง ผลไม้ปรุงแต่งด้วยน้ำตาล พืชผัก/ผลไม้ปรุงแต่งด้วยน้ำส้มสายชู น้ำผลไม้ น้ำมันมะพร้าว ขี้ผึ้ง ซอส ของสำหรับทำซุป สารแอลบูมินอยด์ โมดิไฟด์สตาร์ชหรือกาว

ขณะที่สินค้าไทยบางกลุ่มอาจเผชิญความกดดันจากการแข่งขันที่สูงขึ้น และจากส่วนแบ่งตลาดที่เป็นรองสหรัฐฯ อาทิ แฮม เบคอน และของปรุงแต่งจากสัตว์น้ำ แครอต มะเขือเทศปรุงแต่ง แยมผลไม้ เครื่องสำอาง และเครื่องหอม

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไทยและญี่ปุ่นมีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (Japan – Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) ทำให้ไทยสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ JTEPA และส่งผลให้สินค้าไทยส่วนใหญ่ยังสามารถแข่งขันกับสหรัฐฯ ในตลาดญี่ปุ่นได้

ในฝั่งตลาดสหรัฐฯ ความต้องการซื้อของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มขยายตัว และความได้เปรียบเหนือญี่ปุ่นด้านส่วนแบ่งตลาด ทำให้ไทยยังมีโอกาสขยายการส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ในหลายกลุ่มสินค้า อาทิ ดอกไม้ ผลิตภัณฑ์น้ำตาล เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์กระจกเงา เครื่องจักรสำหรับงานพลาสติก แว่นตากันลม/ปรับสายตา ยางยานพาหนะ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมไทยบางรายการอาจต้องแข่งขันมากขึ้นกับสินค้าญี่ปุ่น เช่น เลนส์และกระจกเงา ซึ่งเป็นส่วนประกอบเครื่องมือทัศนศาสตร์ เครื่องจักรแปรรูปยางหรือพลาสติก เครื่องอุปกรณ์สำหรับบัดกรี ผลิตภัณฑ์ยาง และข้อต่อ ตะปูเกลียวจากเหล็กกล้า อย่างไรก็ตาม โดยรวมไทยยังมีโอกาสผลักดันการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นได้

น.ส.พิมพ์ชก กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการไทยควรเร่งส่งออกสินค้าที่ญี่ปุ่นหรือสหรัฐฯ ยังมีความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้น และสินค้าที่ไทยยังมีความได้เปรียบเหนือญี่ปุ่นหรือสหรัฐฯ เพื่อรักษาหรือขยายส่วนแบ่งตลาดของไทย ขณะที่กลุ่มสินค้าที่เผชิญแรงกดดันสูงขึ้น ไทยควรเร่งพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน เช่น มุ่งเน้นจุดขายด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้าไทย เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดปัจจุบันไว้ ควบคู่กับการขยายการส่งออกไปยังตลาดสำคัญและตลาดที่เติบโตสูง เพื่อชดเชยผลกระทบจากการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดญี่ปุ่นและสหรัฐฯ

นอกจากนี้ น.ส.พิมพ์ชนก ได้ให้ข้อสังเกตว่าข้อตกลงการค้าฉบับนี้ครอบคลุมการค้าระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นไม่มากนัก โดยสหรัฐฯ มุ่งให้ได้ประโยชน์ในกลุ่มสินค้าเกษตรซึ่งเป็นฐานเสียงทางการเมืองที่สำคัญ ขณะที่ญี่ปุ่นมุ่งเน้นสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะข้อตกลงฉบับนี้เป็นการเจรจาระยะแรก (stage one) ซึ่งการเจรจาในอนาคต (stage two) ที่กำหนดเบื้องต้นว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2563 อาจครอบคลุมสินค้ากลุ่มอื่นๆ มากยิ่งขึ้น และหากรวมถึงสินค้ากลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม กำหนดการดังกล่าวอาจต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามในทั้งสองประเทศ

“ภายใต้แรงกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจทำให้ความต้องการสินค้าในแต่ละตลาดลดลงจากการใช้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด อย่างไรก็ดี ไทยยังสามารถส่งออกไปยังสองประเทศได้ เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางเรือและทางเครื่องบินไปยังสหรัฐฯ และญี่ปุ่นยังสามารถดำเนินการได้ แต่อาจได้รับผลกระทบบ้าง จากการลดจำนวนเที่ยวบิน” น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับกลยุทธ์การส่งเสริมการส่งออกให้สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่างประเทศเชิงรุกผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ผลักดันการจำหน่ายสินค้าในร้านไทยบนแพลตฟอร์มศักยภาพของประเทศคู่ค้า (TOPTHAI Flagship Store) เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในแต่ละประเทศได้มากยิ่งขึ้น มีการประชาสัมพันธ์สินค้าไทยร่วมกับแพลตฟอร์มพันธมิตรอย่าง Amazon ของสหรัฐฯ ตลอดจนจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Online Business Matching) เช่น ผลักดันการนำเข้าน้ำตาลปาล์ม (Palm sugar) ของไทยที่มีโอกาสในตลาดสหรัฐฯ รวมถึงปรับแนวทางการจัดงานแสดงสินค้าเป็นรูปแบบออนไลน์ (Online Exhibition) ลดความเสี่ยงจากการเจรจาที่ต้องคุยต่อหน้า (Face to Face)

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมีบริการให้คำแนะนำเรื่องการส่งออก (Online Export Clinic) และจัดทำหลักสูตรและช่องทางให้ข้อมูลและความรู้ต่างๆ แก่ผู้ประกอบการ เช่น การอบรมออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม NEA E-Learning และ Live & Webinar Class ของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ (NEA) เพื่อติดอาวุธผู้ประกอบการไทยให้พร้อมแข่งขันในสถานการณ์ปัจจุบันด้วย

Back to top button