สปอยล์งบฯไตรมาส 1 กลุ่มแบงก์ พร้อมชู 3 ตัวท็อป P/BV ต่ำ-Valuation เด่น

สปอยล์งบฯไตรมาส 1 กลุ่มแบงก์ พร้อมชู 3 ตัวท็อป P/BV ต่ำ-Valuation เด่น


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมบทวิเคราะห์ที่แนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะทยอยประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 ออกมาในสัปดาห์นี้ถึงสัปดาห์หน้า โดยคาดการณ์ว่ากำไรของทั้งกลุ่มจะยังมีการปรับตัวลดลง หลังจากคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอ

ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์เอเอสแอล จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ (15 เม.ย.63) BANKING: คำแนะนำ “Neutral”  มองว่า Valuation น่าสนใจ แต่ยังไม่จำเป็นต้องรีบซื้อ อาจเห็น Sell on fact

โดย เลือก BBL TMB KKP เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มธนาคาร โดยปรับน้ำหนักการลงทุนจาก “Underweight” มาเป็น Neutral” เนื่องจากการซื้อขายปัจจุบันอยู่ที่ PBV 0.56 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปี – 2.0 S.D. แม้ด้าน Valuation น่าสนใจเพราะ PBV ของกลุ่มใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง แต่ในแง่ Sentiment ยังไม่จำเป็นต้องรีบซื้อในตอนนี้ โดยเราปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของทั้งกลุ่มลงในปี 2563 ที่ -11.8% และปี 2564F ที่ -10% สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1/63 คาดกำไรทั้งกลุ่ม (7 ธนาคารที่เราศึกษา) อยู่ที่ 3.33 หมื่นล้านบาท (-4.6% จากไตรมาสก่อน, -16.9% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) จากแนวโน้มของ NIM ที่ลดลง และคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอ อย่างไรก็ตามในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าฟื้นตัวขึ้นจากการลดการส่งเงินเข้า FIDF 2 ปี และการลดลงของการตั้งสำรองจากโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท.

เศรษฐกิจที่อ่อนแอ กดดันผลประกอบการไตรมาส 1/63

ประเมินผลประกอบการไตรมาส 1/63 ของกลุ่มธนาคารอ่อนแอโดยหดตัว -4.6% จากไตรมาสก่อน และ -16.9% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน มาอยู่ที่ 3.33 หมื่นล้านบาท จาก 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. ภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในความเสี่ยงขาลงหลังการแพร่ระบาดรุนแรงในไทยช่วง ก.พ.-มี.ค. 63 ส่งผลให้ลูกหนี้ธนาคารได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพอร์ท SME ซึ่งมีความเปราะบางมากที่สุด รวมถึงพอร์ทสินเชื่อส่วนบุคคลที่ชะลอตัวลงตามไม่ว่าจะพอร์ท HP ที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์มีอุปสงค์ที่อ่อนแอ ส่วนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยคาดไม่หดตัวมากนักจากยอดจองของกลุ่มอสังหาฯในช่วงไตรมาส 1/63 ยังเติบโตได้อยู่
  2. แม้ธปท.อนุโลมสถาบันการเงินนำเงินส่งเข้ากองทุน FIDF เพียง 0.23% จากเดิม 0.46% แต่ไม่สามารถชดเชย แนวโน้ม NIM ปรับลดลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงทั้ง MLR, MOR และ MRR รวมถึงโครงการช่วยเหลือลูกหนี้จากธปท ที่ให้พักการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
  3. การตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ TFRS9 ที่ทำให้ต้องตั้งสำรองมากขึ้นตามความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ และในส่วนของ Management overlay รวมถึงคุณภาพลูกหนี้ที่อ่อนแอลง

มีโอกาสที่ มูดี้ส์ และ S&P จะทบทวนปรับลดเครดิตกลุ่มไทยแบงค์ เป็นอีก Sentiment เชิงลบ

ทั้งนี้มีความกังวลในเชิง Sentiment ในแง่ของการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกลุ่มธนาคารในไทยลงหลัง ฟิทช์ เรทติ้งส์ที่เพิ่งปรับลดเครดิตแบงก์ไทยไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะเป็นตัวเร่งให้เกิดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้ หากมีการปรับลดจริง ซึ่งคาดวามีโอกาสสูง จะกระทบกับต้นทุนทางการเงินที่จะสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดีฐานเงินทุนของธนาคารบ้านเรายังคงแข็งแกร่ง

ในระยะสั้นอาจไม่ใช่จังหวะที่ดีในการลงทุน อาจเห็น Sell on fact

มองว่าตอนนี้ยังไม่ใช่จุดต่ำสุดของกลุ่มธนาคาร โดยเราคาดว่าจุดต่ำสุดอยู่ในช่วงไตรมาส 2/63 เนื่องจากเราคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากที่สุดในไตรมาส 2/63 และจะค่อยๆฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/63 จนถึงปี 2564 สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1/63 ที่จะประกาศออกมาเราคาดว่าจะเห็นการ Sell on fact เกิดขึ้น เนื่องจากในช่วง MTD ดัชนี SET BANK ปรับตัวขึ้นราว 7.5%MTD โดยมี BBL และ TISCO  ปรับตัวขึ้นมากที่สุด 15.9%MTD และ 15.4%MTD ตามลำดับ

ปรับคำแนะนำกลุ่มขึ้นเป็น Neutral แนะนำ “รอซื้อเมื่ออ่อนตัว” BBL TMB KKP

ทั้งนี้ ปรับคำแนะนำกลุ่มธนาคารขึ้นเป็น “Neutral” จากเดิมที่ “Underweight” โดยมีเพียงแค่ Valuation ที่น่าสนใจ แต่ในแง่ของ Sentiment อาจยังไม่ดีมากนัก โดยเลือกหุ้นเด่นของกลุ่มได้แก่ BBL TMB KKP และแนะนำ “ซื้อเมื่ออ่อนตัว” เนื่องจากคาดว่าจะเกิด Sell on fact ซึ่ง BBL โดดเด่นในแง่ของฐานเงินทุน และพอร์ท SME ที่น้อย ได้รับผลกระทบไม่เท่าธนาคารอื่น ด้าน TMB แม้ว่าการ Synergy กับ TCAP จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่าคาดในปีนี้ แต่ว่าสินเชื่อที่โตและครอบคลุมทุก segment มากขึ้นรวมถึงได้พาร์ทเนอร์ธุรกิจประกันชีวิตกับ พรูเด็นเชียล หนุนรายได้ค่าธรรมเนียมขยายตัว ส่วน KKP โดดเด่นด้วยปันผลที่สูงกว่า 10% รวมถึงรายได้ IB ที่นำหุ้น CRC เข้าตลาด หนุนรายได้ค่าธรรมเนียม

Back to top button